เริ่มดีเดย์ 15 เมษา ตัดทุเรียนหมอนทองตะวันออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภค ไร้ทุเรียนอ่อนจำหน่าย
เริ่มดีเดย์ 15 เมษา ตัดทุเรียนหมอนทองตะวันออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภค ไร้ทุเรียนอ่อนจำหน่าย

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ทุเรียนไทย โดยเฉพาะหมอนทองเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) มีความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของทุเรียน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการลักลอบตัดทุเรียนอ่อนจำหน่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ทุเรียนไทย ทั้งต่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างจีน และสำหรับฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยองหารือร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาผลไม้ในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีการกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนเป็นรายภาค เป็นความตกลงร่วมกันจากทุกฝ่าย ซึ่งทำให้ผลผลิตทุเรียนที่ออกสู่ตลาดนั้นมีคุณภาพดีขึ้น

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับทุเรียนหมอนทองมีการกำหนดวันเก็บเกี่ยวเป็นรายภาค คือ วันที่ 15 เมษายน 2566 โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการออกคำสั่งและประกาศจังหวัด เรื่องกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนตามมาตรการควบคุมและป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ เนื่องจากการดำเนินการไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย เพราะมาตรฐานทุเรียนไทย ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ จึงอาศัยอำนาจทางการปกครองในการดำเนินการได้ นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด (จังหวัดระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราด) ประสานและดำเนินการในการจัดทำคำสั่ง/ประกาศของจังหวัด อาศัยอำนาจทางการปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้มติที่ประชุมฯ เป็นข้อมูลในการดำเนินการต่อไป

“มาตรการเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หมอนทองก่อนถึงประกาศวันกำหนดเก็บเกี่ยว 15 เมษายน 2566 ที่ผ่านมานั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร หากจำเป็นต้องเก็บเกี่ยวก่อนวันประกาศฯ ให้นำตัวอย่างผลทุเรียนมาให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ทำการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อในน้ำหนักแห้ง ยกเว้นเฉพาะจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่มีพื้นที่ปลูกและล้งรับซื้อจำนวนมาก ที่ทางจังหวัดประกาศให้มีการตรวจตัวอย่างทุเรียนตลอดฤดูการผลิต เพื่อออกใบรับรองความแก่แนบไปกับรถขนส่งทุเรียนที่ไปจำหน่าย ณ ที่ล้ง/โรงคัดบรรจุ การออกใบรับรองความแก่ ใช้วิธีการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ซึ่งพันธุ์หมอนทองต้องได้เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 32 เป็นการสร้างมาตรฐานให้กับผลผลิตทุเรียนที่เกษตรกรจะนำไปจำหน่าย และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับประทานทุเรียนคุณภาพอย่างแท้จริง” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทั้งนี้ สถานการณ์ไม้ผลรวมทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปี 2566 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 907,542 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 890,703 ไร่ (เพิ่มขึ้น 16,839 ไร่ หรือร้อยละ 1.89) เนื้อที่ให้ผลรวม 656,626 ไร่ ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 684,417 ไร่ (ลดลง 27,791 ไร่ หรือร้อยละ 4.06) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,604 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,845 กิโลกรัม (ลดลง 241 กิโลกรัม หรือร้อยละ 13.06) มีปริมาณผลผลิตรวม 1,053,328 ตัน ลดลง จากปี 2565 ที่มีจำนวน 1,262,899 ตัน (ลดลง 209,571 ตัน หรือร้อยละ 16.59) ปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ในปีนี้มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 สลับกับอากาศหนาวเย็นยาวนาน ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผล สำหรับทุเรียนในระยะดอก ทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 ถูกฝนชะดอก จึงไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ อีกทั้งได้รับผลกระทบจาก ลมพายุในช่วงเดือนธันวาคม 2565 – มีนาคม 2566 ทำให้ดอกและลูกร่วงเสียหาย สำหรับมังคุด เงาะ ลองกอง เกษตรกรโค่นต้นที่ให้ผลแล้วออกเพื่อปลูกทุเรียนทดแทน ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ลดลง สำหรับการกระจายตัวของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะทยอยเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2566 โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในเดือนเมษายน 2566

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated