สื่อเมียนมาร์เผยข้อมูลจากรัฐฉาน เหตุเกิดจุดความร้อนมาจากพื้นที่ป่า ไม่ใช่ที่เพาะปลูก

ผู้สื่อข่าว The People’s Voice สื่อของเมียนมา ได้รายงานในเฟซบุ๊ค และเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 (https://www.facebook.com/612819968887929/posts/2319028611600381/?sfnsn=mo&mibextid=RUbZ1f) ว่า สถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทยและเมียนมาร์ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ สร้างความกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนในพื้นที่ และการท่องเที่ยว

จากข้อมูลของชาวบ้านในพื้นที่รัฐฉานเล่าว่า ในพื้นที่ชายแดนเชื่อมต่อประเทศเมียนมาร์กับไทยเกิดฝุ่นละอองสูงมาก จนทำให้นักท่องเที่ยวบางคนเป็นลมและเข้าโรงพยาบาล ทั้งนี้เพจสื่อมวลชนฝั่งประเทศไทยก็รายงานว่า มลพิษทางอากาศเกิดจากไฟป่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จึงออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ช่วงกลางเดือนมีนาคม สื่อบางแห่งรายงานว่า ฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาบนพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่รัฐฉาน ของเมียนมาร์

ผู้สื่อข่าวของ The People’s Voice ได้นำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า ฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดขึ้นมาจากการการเข้าไปหาของป่าของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกันกับเกษตรกรในพื้นที่สูงกำลังกำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมแปลงเพาะปลูกในฤดูฝนที่กำลังจะใกล้เข้ามา

หากพิจารณาจากภูมิประเทศและข้อมูลดาวเทียม พื้นที่ของรัฐฉาน ส่วนใหญ่ครอบคลุมด้วยพื้นที่ป่า หรือคิดเป็นร้อยละ 80-85 ของพื้นที่ทั้งหมดของรัฐฉาน ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านคิดเป็นเพียงร้อยละ 3-5 (ที่เหลืออีกร้อยละ 12 เป็นทุ่งหญ้า) ของพื้นที่ทั้งหมด ดังนั้น จุดความร้อนและฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจึงมาจากพื้นที่ป่าเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน เกษตรกรปลูกข้าวโพดในพื้นที่รัฐฉานบอกกับนักข่าวว่า เกษตรกรทราบดีว่าการเผาหลังเก็บเกี่ยวจะทำให้ดินเสียหาย และในพื้นที่ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชแบบไม่เผาหลังเก็บเกี่ยวอีกด้วย เกษตรกรยังเสริมว่า แม้ว่าเกษตรกรจะใช้วิธีการเผาเพื่อเตรียมปลูกพืชในฤดูฝน แต่ความแตกต่างของขนาดพื้นที่ป่าและเกษตรกรรมในรัฐฉาน ที่พื้นที่ป่าครอบคลุมถึงร้อยละ 80-85 การเผาจากพื้นที่เกษตรจึงไม่น่าเป็นต้นเหตุหลักของการเกิดจุดความร้อนในรัฐฉาน

นอกจากนี้ ภาคเอกชนในเมียนมาร์ยังได้ประกาศซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงพื้นที่ปลูก ตามแนวทาง “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อสามารถยืนยันได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จัดจากผู้ปลูกในเมียนมาร์มาจากแหล่งปลูกที่ไม่บุกรุกตัดไม้ทำลายป่า และไม่เผาหลังเก็บเกี่ยว

สื่อเมียนมาร์ยังรายงานว่าไฟป่าในพื้นที่รัฐฉานและบริเวณใกล้ชายแดนเมียนมาร์-ไทยเกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน จะมีอากาศร้อนจัด จึงมีความเป็นไปได้ที่ใบไม้แห้งกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีของการเกิดไฟป่าและเกิดจุดความร้อน รวมทั้งยังเกิดจากการเผาเพื่อหาของป่าอีกด้วย

จากเว็บไซต์ World Air Index ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตรงพื้นที่ท่าขี้เหล็ก-แม่สาย ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของรัฐฉานอยู่ในระดับสูง 300-500 ซึ่งผู้สื่อข่าว The People’s Voice ยังได้สรุปปิดท้ายว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบและประชาชนในพื้นที่กำลังร่วมมือหาแนวทางลดฝุ่นละอองเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง./

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated