นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในภาคตะวันออกไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ และพระราชทานชื่อโครงการฯ ว่า “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ซึ่งแปลว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” ตามพระบรมราโชบายที่จะให้อนุรักษ์ป่าและช้าง และการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างอย่างมีความสุข และทรงสิบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2542 เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของคนกับช้างป่า ความว่า “ ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอการปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารช้างในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า…” โดยมีมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโครงการ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า รวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก
สำหรับกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถน้อมนำแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงาน ไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตให้มีความมั่นคงในอาชีพ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริในโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้านคชานุรักษ์ หมู่บ้านขยายผล และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว เพื่อให้เกษตรกรเป้าหมายได้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการ ดังนี้ 1) การถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายเกษตรกร จังหวัดละ 20 ราย รวมทั้งหมด 100 ราย เพื่อให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง สามารถพึ่งพาตนเองได้ 2) การจัดทำแปลงเรียนรู้ส่งเสริมการเกษตร เป้าหมายจังหวัดละ 15 ไร่ รวมทั้งหมด 75 ไร่ เพื่อฝึกปฏิบัติและเรียนรู้ โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อจัดทำแปลงเรียนรู้ตามความต้องการของเกษตรกร โดยเน้นปลูกพืชสมุนไพรที่ช้างไม่ชอบ เช่น กระชาย ไพล กระวาน ชะอม เป็นต้น เพื่อป้องกันการทำลายผลผลิตจากช้างป่า 3) การจัดทำแปลงเรียนรู้สำหรับเกษตรกรต้นแบบ เป้าหมายจังหวัดละ 5 ไร่ รวม 25 ไร่ โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามความต้องการของเกษตรกร และ4) การถ่ายทอดเทคโนโลยีการถนอมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป้าหมายจังหวัดละ 1 กลุ่ม รวมทั้งหมด 5 กลุ่ม เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีด้านการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และสนับสนุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเพื่อจัดทำแปลงเรียนรู้ตามความต้องการของเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้เรื่องการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพของตนเอง ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถเพิ่งพาตนเองได้ เป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป