หน่อไม้นอกฤดู

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านส่งเสริมการผลิต กล่าวถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปปลูกไผ่เพื่อสร้างรายได้จากการทำหน่อไม้นอกฤดูว่า ไผ่ในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ไผ่ตง ไผ่บงใหญ่ ไผ่ซางหม่น ไผ่สีสุก ไผ่รวก ไผ่ไร่ และไผ่เลี้ยง ถือเป็นพืชอเนกประสงค์  เนื่องจากส่วนต่าง ๆ ของไผ่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น หน่อไม้ นำมาบริโภคได้หลากหลายเมนู หรือแปรรูปเป็นหน่อไม้ปี๊บ หรือหน่อไม้ดอง ลำต้น นำไปใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำนั่งร้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือทำเยื่อกระดาษ ใบ ใช้ห่อขนม ทำหมวก และทำหลังคา ส่วนกิ่งและแขนง ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และนำมาเป็นส่วนขยายพันธุ์

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

โดยไผ่ที่ปลูก ให้หน่อได้ดี และนิยมทำหน่อนอกฤดูคือ ไผ่ตงลืมแล้ง เนื่องจากไม่มีหนาม มีลำต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ให้หน่อโต คุณภาพดี และให้ผลผลิตมากกว่าไผ่สายพันธุ์อื่น ๆ หลายเท่าตัว หากปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการที่ดี จะให้ผลผลิตสูง 30-50 กิโลกรัม/กอ/ปี เมื่อทำหน่อไม้นอกฤดู เกษตรกรสามารถขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 40-80 บาท/กิโลกรัม ซึ่งการผลิตหน่อไม้นอกฤดูยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน มีความต้องการสูงสุด รองลงมาคือภาคเหนือ นอกจากนี้ไผ่ตงลืมแล้ง ยังทนทานต่อปัญหาน้ำท่วมได้ดี

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า หากเกษตรกรสนใจปลูก ควรปลูกไผ่ตงลืมแล้งก่อนเดือนมิถุนายน เพราะต้นไผ่จะมีอายุมากพอที่จะทำหน่อนอกฤดูได้ในปีถัดไป การไว้ลำแม่เพื่อจะทำหน่อนอกฤดูควรไว้หน่อช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เพราะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด ลำต้นแม่จะไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป หลังจากนั้นให้ตัดแต่งกิ่งภายในเดือนพฤศจิกายน โดยเลือกลำแม่ไว้เพียงกอละ 1-2 ลำ เท่านั้น ลำที่มีขนาดเหมาะสมคือ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 1.5-2 นิ้ว ถ้ามีหน่อออกมาหลังจากนี้ให้คอยตัดออกทั้งหมด อย่าไว้ลำอีกเด็ดขาด

ส่วนเทคนิคการปลูกไผ่ตงลืมแล้ง ควรปลูกในพื้นที่ดินร่วนปนดินเหนียว ขุดหลุม กว้าง – ยาว ประมาณ 1 เมตร ลึก 0.5 เมตร นำหน้าดิน ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และอินทรียวัตถุเติมลงไปให้เต็มแล้วค่อยปลูก หากปลูกในพื้นที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำ ดินจะเก็บความชื้นได้ดี และให้ผลผลิตนอกฤดูได้ดีกว่าแหล่งปลูกในพื้นที่ดอน เนื่องจากเกษตรกรนิยมปลูกไผ่ตงลืมแล้ง เพราะต้องการหน่อเป็นหลัก จึงสามารถปลูกได้ในระยะประชิด หรือปลูกในระยะห่าง 2×3 เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เมื่อปลูกไผ่ครั้งแรกควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก จำนวน 2 กิโลกรัม/กอ และอีก 4 เดือนต่อมา ให้ใส่เพิ่มเป็น 4 กิโลกรัม/กอ เพื่อเร่งการแทงหน่อและให้หน่อไม้ที่สมบูรณ์และมีขนาดใหญ่

เมื่อเข้าสู่ต้นเดือนมกราคม ควรให้ปุ๋ยและคลุมฟางที่โคนกอ และเริ่มให้น้ำประมาณปลายเดือนมกราคม ช่วงแรกควรให้น้ำบ่อยและให้ดินเปียกโชก พออากาศเริ่มอุ่นไผ่จะเริ่มแทงหน่อ ควรให้น้ำน้อยลง และเริ่มเก็บหน่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม หลังจากตัดหน่อไปได้สัก 2-3 หน่อต่อกอ ควรใส่ปุ๋ยคอกอีกรอบ โดยไผ่ 1 กอ จะให้ผลผลิตเฉลี่ย6-10 กิโลกรัม ต่อหนึ่งรอบการผลิตนอกฤดูกาล ราคาที่ขายได้ 40-80 บาทต่อกิโลกรัม หรือขั้นต่ำประมาณ 250 บาทต่อกอทำให้มีรายได้เฉลี่ยไร่ละ 50,000 บาทขึ้นไป โดยทั่วไปพื้นที่ปลูกไผ่ 1 ไร่ ระยะห่าง 2×3 เมตร จะได้ประมาณ 270 กอ

“หากปลูก 4 ไร่ จะได้ประมาณ 1,060 กอ จะเก็บหน่อไม้ได้ประมาณวันละ 40 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 40-80 บาท ทำให้มีรายได้วันละ 1,600-3,200 บาท และเมื่อเกษตรกรปลูกพืชผักอื่นๆ เสริม เช่น ชะอม ใบย่านาง ใบแมงลัก เห็ด และมะละกอ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะพืชผักพื้นบ้านเหล่านี้ ถือเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารที่แปรรูปจากหน่อไม้ ซึ่งสินค้าทุกชนิดขายได้ดี และเป็นที่ต้องการของตลาด” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร มีศูนย์ขยายพันธุ์พืช จำนวน 10 ศูนย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ตรัง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน สุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชให้บริการในรูปแบบ 4 สายการผลิต ได้แก่ สายการผลิตต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืช ที่เปิดให้ความรู้การเพาะพันธุ์ไผ่ (ท่อนพันธุ์) มีจำนวน 4 ศูนย์ ประกอบด้วยศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก

ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปสามารถใช้บริการได้ ณ จุดให้บริการพืชพันธุ์ Doae โดยสามารถติดต่อได้ที่

  • ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่เลขที่ 85 ถนนเกษตร ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครรราชสีมา โทร 044-379617
  • ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่เลขที่ 58 หมู่ 5 ตำบลนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช โทร 075-845196
  • ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่เลขที่ 83 หมู่ 3 บ้านตาเก็ม ตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ โทร 044-666422
  • ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่เลขที่ 99/1 หมู่ 5 บ้านบางทราย ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โทร 055-906220
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated