นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในแต่ละปีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะจัดให้มีการประกวดผลงานของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่น และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ตั้งแต่ระดับจังหวัดจนถึงระดับชาติ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่น ควรแก่การเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์รายอื่นได้พัฒนาอาชีพและการทำงานตาม โดยเกษตรกร ผู้แทนสถาบันเกษตรกร ผู้แทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทุกปี สำหรับปี พ.ศ. 2566 จะตรงกับวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแสดงความยินดีเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2566 ทุกท่าน ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้ดำเนินการคัดเลือก จำนวน 8 สาขา ซึ่งมีผลงานดีเด่น ดังนี้
1. นายจักรินทร์ โพธิ์พรม เกษตรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน ประจำปี พ.ศ. 2566 จังหวัดอุดรธานี เปลี่ยนจากอาชีพรับจ้างในกรุงเทพ มาทำสวนกล้วยหอมทอง โดยใช้เทคโนโลยี จนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้การรับรอง GAP และ GMP ต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตกล้วยหอมคุณภาพส่งขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

2. นายชาญชัย ธนะกมลประดิษฐ์ เกษตรกรดีเด่นสาขาทำไร่ ประจำปี พ.ศ. 2566 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกสับปะรดขนาดใหญ่ ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรทำไร่สับปะรดแฟร์เทรด จนขยายผลเป็นแปลงใหญ่สับปะรดแฟร์เทรด ผลิตสับปะรดผลสดพันธุ์ MD2 ได้การรับรอง GAP เพื่อส่งออก โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต และมีการวิเคราะห์ดิน เพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย

3. นางสาวพนมรัตน์ รักเหล็ก เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพไร่นาสวนผสม ประจำปี พ.ศ. 2566 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการจัดระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน สอดคล้องกับ BCG Model แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และจำหน่ายดินปลูกผ่านช่องทางการตลาดแบบออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊ค “พนมรัตน์ฟาร์มเกษตร”

4. นางสาวสถาพร ตะวันขึ้น บุคคลทางการเกษตรดีเด่นประเภทที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2566 จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการทำแปลงปลูกผักในโรงเรียนวัดแก่นจันทร์จนได้รับการประเมินระดับดี 4 ดาว ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้แก่ผู้ที่สนใจ

5. นางสาวจิราพัชร คุ้มกุดขมิ้น บุคคลทางการเกษตรดีเด่นประเภทสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2566 จังหวัดชัยภูมิ สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยา เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านการเกษตร รวมถึงกระบวนการทำงานของกลุ่มยุวเกษตรกร ช่วยสร้างประสบการณ์ และสร้างรายได้ให้ครอบครัวระหว่างเรียนได้

6. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนากอ สถาบันเกษตรกรดีเด่นประเภทกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2566 จังหวัดนราธิวาส แก้ไขปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายเนื่องจากราคายางพาราตกต่ำ โดยนำ “ลูกหยีแห่งเทือกเขาบูโด” ผลไม้เอกลักษณ์ประจำถิ่นของชุมชนมาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแปรรูป และพัฒนาต่อยอดจนผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย ได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ผู้บริโภค กลายเป็นเป็นสินค้าเด่นที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกและคนในชุมชน ภายใต้ชื่อ “ลูกหยีบูโด”

7. โรงเรียนโนนกอกวิทยา จังหวัดชัยภูมิ สถาบันเกษตรกรดีเด่นประเภทกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2566 มีการยกระดับคุณภาพการผลิตพืชสู่มาตรฐาน GAP และทำ Business Matching จับคู่ธุรกิจสินค้าของกลุ่มยุวเกษตรกร กับโรงอาหารของโรงเรียน จำหน่ายผลผลิตโดยตรงให้กับนักเรียน และผู้ปกครอง และผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ Facebook Fanpage ของกลุ่มยุวเกษตรกร

8. วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม จังหวัดเพชรบุรี สถาบันเกษตรกรดีเด่นประเภทวิสาหกิจชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2566 เป็นศูนย์กลางการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีไปสู่ชาวนา รวบรวมผลผลิต/แปรรูป เพื่อจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “เพชรพริบพรี” รวมทั้งเป็นจุดสาธิตการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตข้าวได้รับมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว GAP Seed
