สัมภาษณ์ “เรือง ศรีนาราง” ประธาน ศพก. จังหวัดตราดและเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวนปี 2562 ของกรมส่งเสริมการเกษตรกับประสบการณ์กว่า 30 ปี ในการทำสวนทุเรียน
“ผมพื้นเพเป็นคนจังหวัดพิจิตร เรียนจบเกษตรจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาวิทยาเขตเกษตรพิษณุโลก ซึ่งปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เรียนจบก็มาทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่พัฒนาที่ดิน จันทบุรี ในปี 2524 แต่เป็นคนชอบต้นไม้และสวนอยู่แล้วจึงลาออกและซื้อที่ดิน 20 กว่าไร่ ที่ ต. ท่ากุ่ม อ.เมือง จังหวัดตราด เริ่มทำสวนทุเรียนประมาณปี 2529 ตอนแรกก็ปลูกทุกสายพันธุ์ เนื่องจากไม่รู้ว่าพันธุ์ไหนดี ตอนแรกก็ขาดทุน มีหนี้สิน เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์ จึงต้องหาประสบการณ์ ไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีสวนทุเรียนหมอนทองประมาณ 170-180 ไร่ ปลูกเพิ่มเรื่อยๆ ได้เงินจากทุเรียนมา ก็ซื้อที่ดินแปลงใกล้ ๆ ที่ดินแปลงเดิม เพราะตอนแรกที่ยังไม่มีเงินมากพอ ก็ใช้วิธีเช่าสวนหลาย ๆ แปลง ซึ่งแต่ละแปลงอยู่ไกลต่างอำเภอ แต่ละวันผมต้องเสียเวลาเดินทางนับร้อยกิโลเมตรไปดูแลสวนที่ผมเช่า” นายเรือง ศรีนาราง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวนปี 2562 เริ่มเล่า
สำหรับวิธีการทำสวนทุเรียนของเขานั้น นายเรือง พยายามลดต้นทุนการผลิตด้วยการลดการใช้แรงงานคน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ อย่างเช่น การใช้รถตัดหญ้าแทนแรงงานคน, การผสมยา (สารป้องกันกำจัดแมลงและโรคพืช) และปุ๋ยในจุดเดียวแล้วปล่อยไปตามระบบให้น้ำผ่านท่อแป๊บ ซึ่งจะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น, การพ่นยาจุดเดียวสามารถพ่นได้ 4-5 หัว โดยใช้คน 1 คน ต่อหนึ่งสาย ซึ่งปกติต้องใช้ 2 คน ต่อ 1 สาย (เป็นสายพ่นฯ ยาว 50 เมตร ต่อ 1 คน) วางระบบหัวที่จะใช้เดินน้ำยาเป็นจุด ๆ ทำให้ทำงานสะดวกรวดเร็วขึ้น และประหยัดคนงานได้ครึ่งหนึ่ง การพ่นยาในจุดเดียวทำให้รวดเร็ว หนึ่งวันสามารถพ่นยาทุเรียนได้พันกว่าต้น ใช้ได้ดีกว่าเครื่องพ่นยาแอร์บลาส ซึ่งความละเอียดในการทำงาน สู้คนไม่ได้ การใช้คนพ่นยาสามารถชอนไชใต้ใบ โคนใบและประหยัดกว่าแอร์บลาส
นอกจากนั้นในสวนก็มีการใช้เครื่องมือและการใช้ความร้อนหยุดยั้งการลุกลามของโรคพืช ซึ่งสามารถหยุดยั้งการลุกลามของโรคพืชได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่หายขาดต้องใช้สารเคมีร่วมด้วย และมีการใช้เครื่องผสมปุ๋ย ผสมปุ๋ยเคมีตามสูตรที่นายเรืองต้องการ และใช้ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มากับปุ๋ยอินทรีย์ แต่ส่วนมากจะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นหลัก เพื่อควบคุมไม่ให้โรคพืชระบาดในแปลง จะหว่านเชื้อราไตรโคเดอร์มารอบโคนต้นทุเรียนประมาณ 3 – 4 เดือนต่อครั้ง การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาช่วยลดการใช้สารเคมีลงกว่าครึ่งซึ่งส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมภายในสวน ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุนลดค่าแรงงาน ลดปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช
สำหรับคุณภาพของทุเรียนถ้าต้องการได้ขนาดตามมาตรฐานทุเรียนส่งออก ต้องใช้เวลาศึกษานาน นายเรืองบอกว่า ที่สำคัญ คือ เรื่องการให้น้ำเป็นหลัก การให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมแต่ละช่วง ลูกทุเรียนจะสวยได้ทรง ได้ไซด์
“ผมพยายามลดต้นทุนการผลิตไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือเพื่อลดการใช้แรงงาน ต่อไปแรงงานจะหายากขึ้นเรื่อย ๆ การทำงานให้สำเร็จรวดเร็ว ต้องฝึกคนงานชุดหนึ่งที่เขาเป็นมืออาชีพและให้เขาเหมางานแต่ละแปลง เพราะการเหมางานเขาก็อยากทำผลผลิตให้ได้มากและได้ผลผลิตที่ดี มีเงินโบนัสให้คนงานเป็นการตอบแทน ทำให้เขามีกำลังใจในการทำงาน ทำเยอะได้มาก เงินเขาจะได้เพิ่มขึ้น งานในสวนสำคัญที่สุด เราต้องอาศัยแรงงานเขา”
สำหรับเป้าหมายของนายเรือง นั้น คือ การทำทุเรียนคุณภาพที่ดีที่สุด อยากทำทุเรียนให้ได้ขนาดตามมาตรฐานทุเรียนส่งออกมากที่สุดอย่างน้อย 80-90 % โดยนายเรืองเห็นว่าเม็ดเงินที่ได้รับต่างกันมาก จะต่างกันครึ่งหนึ่ง ทุเรียนส่งออกราคาตันละ 1 แสนบาท แต่ทุเรียนขายในประเทศ ตันละ 5 หมื่นบาท ดังนั้นถ้าชาวสวนทุเรียน ทำทุเรียนให้ได้คุณภาพ ให้มีขนาดและรูปทรงที่สามารถส่งออกได้ รายได้ที่ได้รับในแต่ละจะเพิ่มขึ้นและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
“ผมสอนลูก ๆ และชาวสวนว่าเงินที่ได้รับจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในแต่ละปีซึ่งปีหนึ่งเราได้เงินครั้งเดียว ก็ควรทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพ 100 %”
ทั้งนี้สวนทุเรียนหมอนทองของนายเรือง ผลิตทุเรียนคุณภาพดีในแต่ละปีได้กว่า 250 ตัน เป็นทุเรียนส่งออกถึงร้อยละ 80 ของผลผลิต และเป็นการทำทุเรียนก่อนฤดู มากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งในแถบภาคตะวันออกนั้น ตามฤดูทุเรียน ก็คือ กลางเดือนพฤษภาคม แต่สวนทุเรียนของนายเรือง ออกผลผลิตประมาณ มีนาคม-กลางเมษายน ทำให้จำหน่ายได้ในราคาสูง
สำหรับการทำงานร่วมกับภาครัฐนั้น เขาเป็นกรรมการฟรุ้ทบอร์ดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 สมัย และยังเป็นรองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งมี 9 จังหวัด เขาไปประชุมแผน และรับทราบนโยบายแล้วมานำมาถ่ายทอดให้เกษตรกรในจังหวัดตราด รับนโยบายจากระดับเขตของ กรมส่งเสริมการเกษตรมาถ่ายทอด
ปัจจุบัน นายเรืองยังเป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จังหวัดตราด เขาได้สร้างศูนย์เรียนรู้ฯ และห้องประชุมขึ้นที่สวนของเขา และสวนของเขายังเป็นที่ทำการ ของกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลท่ากุ่ม – เนินทราย ซึ่งเขาเคยเป็นประธานฯ แต่ปัจจุบันได้ลาออก ให้คนรุ่นหลังขึ้นมาเป็นประธานฯแทน ซึ่งสมาชิกเกือบร้อยคนที่เป็นเกษตรกรที่ทำสวนทุเรียนก็จะมาประชุมกันบ่อยที่ศูนย์เรียนรู้ฯ และจะมีการเชิญวิทยากรที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญ มาถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกที่ศูนย์ฯ
สำหรับการช่วยเหลือจากภาครัฐนั้น เขายกตัวอย่างว่า ตอนที่เขาตั้งกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ฯ ทางราชการให้งบประมาณฯ มาช่วยในการจัดตั้งกลุ่มฯ มีการจัดหาแม่ปุ๋ยให้และแนะนำสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับพืชที่ปลูก ได้เงินสนับสนุนจากสถาบันทางการเงินซึ่งก็เอาเงินมาซื้อปัจจัยการผลิตให้กับสมาชิกในกลุ่ม
“ทุกวันนี้การทำการเกษตรของเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เกษตรกรต้องไม่หยุดพัฒนา” นายเรือง กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งก็ไม่ต่างกับตัวเขาที่ทุกวันนี้ไม่เคยหยุดนิ่งและพัฒนาตนเอง