เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 คุณจตุพล เกษตรก้าวไกล ทีมงานเกษตรก้าวไกล ส่งรูปมาทางไลน์บอกว่า “ทุเรียนที่เรือนองุ่นปวิณ ปุณศรี ภายในรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่ อาจารย์อาร์ต (รัฐพล ฉัตรบรรยงค์) แห่งภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ปลูกไว้ ที่เราเคยมาทำข่าว..ออกลูกแล้วนะ”
ก็รู้สึกดีใจกับข่าวนี้ กับข้อความที่ส่งมา เพราะเห็นถึงความตั้งใจของอาจารย์ผู้ดูแลการปลูก กับนิสิตที่หมั่นดูแลเป็นอย่างดี และเกษตรก้าวไกลก็ไม่พลาด ตั้งแต่ทราบข่าวก็ตามหาว่าอาจารย์ท่านใดเป็นผู้ปลูกจนสามารถตามพบและทำข่าวทำคลิปมาลงในช่องยูทูปเกษตรก้าวไกล ปรากฏว่าเป็นฮือฮามาก เพราะแม้แต่บุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ไม่เคยทราบข่าวมาก่อน
จากการสอบเกี่ยวกับทุเรียนที่ติดลูกในครั้งนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาฟูมฟักอยู่หลายปีนับตั้งแต่เริ่มปลูกต้นแรกและต้นอื่นๆ ในช่วงประมาณปี 2560 อาจารย์อารต์บอกว่าครั้งแรกนั้นต้องการปลูกเพื่อให้นิสิตได้ศึกษาเรียนรู้ เป็นงานวิจัยว่าจะสามารถปลูกได้ไหมในพื้นที่แบบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีสภาพแวดล้อมแบบเมือง ซึ่งขณะนั้นการปลูกทุเรียนเป็นที่สนใจมาก เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่มาแรง ในฐานะที่อยู่ภาควิชาพืชสวนก็เลยคิดว่าต้องปลูกไม้ผลชนิดนี้ และคุณพ่อก็เป็นเกษตรกรปลูกทุเรียนอยู่ที่จังหวัดสุราษฐร์ธานีอีกด้วย
โดยเลือกพันธุ์ทุเรียนที่เด่นที่สุดของแต่ละพื้นที่มาปลูก จำนวน 13 สายพันธุ์ 13 ต้น โดยพันธุ์แรกที่ปลูกก็คือ มูซานคิง โดยวิธีการปลูกนั้นจะเน้นการเสริมราก เพื่อให้ต้นแข็งแรงเพียงพอ (คลิกดูจากคลิปข้างบนประกอบได้) และเนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ค่อยเอื้อำนวยนัก อีกทั้งมีพื้นที่ดินจำกัด โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนใบจะไหม้ จึงจึงระบบน้ำแบบท่อแป๊บขึ้นไปถึงยอดจากนั้นพ่นหมอกลงมา ซึ่งก็ทำให้เป็นผลดีจากเดิมที่ทุเรียนชะงักการเติบโดต โดยเริ่มติดดอกมาในบางปี แต่ไม่สามารถติดลูกได้ เพิ่งมาติดลูกในปีนี้เป็นครั้งแรก และติดพร้อมกันหลายต้น เป็นต้นว่า มูซานคิงคิดก่อนต้นอื่นๆ จำนวน 5 ลูก ซึ่งได้เก็บผลผลิตไปหมดแล้ว ต้นที่ยังเหลือ เช่น กบสุวรรณ จันทบุรี 9 หนามดำ ฯลฯ
ต้นนี้..จันทบุรี 9
อาจารย์อาร์ตบอกว่าเพื่อเป็นการเบิกฤกษ์ชัยที่จะมีทุเรียนประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นครั้งแรก ทราบว่าทาง ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมาทำพิธีตัดทุเรียนลูกแรกในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เวลา ประมาณ 15.00 น. และข่าวจากเฟสบุ๊คของอธิการบดีบอกว่าได้ชิมทุเรียน(มูซานคิง)ที่เป็นผลผลิตเมื่อวันนี้(16 พฤษภาคม 2566) ยืนยันว่ารสชาติอร่อยมาก และหากผู้สนใจจะมาติดตามเรื่องราวทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะได้เชิญนักวิชาการมาให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป