นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระบี่เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีลักษณะเด่นและมีศักยภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายด้าน อาทิ พืชพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มหายาก มีจำนวนลดลง และมีโอกาสสูญพันธุ์ได้ หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง” ในท้องถิ่นของจังหวัดกระบี่ ที่มีความหลากหลายทั้งด้านลักษณะ สีสัน และรสชาติที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน จึงต้องมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดการรับรู้ เข้าใจ มีจิตสำนึก รัก หวงแหนธรรมชาติ และร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมทั้งขยายผลการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ จึงได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) จังหวัดกระบี่ ปี 2566 เพื่อยกระดับและการสร้างมูลค่าของทุเรียนพื้นเมืองของจังหวัด ขยายพันธุ์อย่างถูกหลักวิธีให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น และขยายผลไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนพื้นเมืองของจังหวัดกระบี่
“ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา นอกจากจะช่วยสร้างจิตสำนึกรัก หวงแหน และร่วมอนุรักษ์ต้นทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ให้เกิดขึ้นในชุมชนแล้ว ยังส่งผลให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตทุเรียนได้ราคาดีขึ้น จากเดิมที่เคยขายได้ 40 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 80 บาทต่อกิโลกรัม และมีพื้นที่ปลูกทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ดีเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2563 จำนวน 752 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,161 ไร่ ในปี 2565 รวมทั้งมีผลผลิตทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ เพิ่มมากขึ้นจากเดิมปี 2563 จำนวน 283 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 620 ตัน ในปี 2565 คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 27 ล้านบาท” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ได้จัดงานประกวดทุเรียนพื้นเมืองเพื่ออนุรักษ์และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการปลูกทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ดี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) จังหวัดกระบี่ ขึ้น เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตร ตลาดเกษตรกร จังหวัดกระบี่ ตำบลกระบี่ใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ภายในงานมีกิจกรรมการประกวดทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ และสาธิตการกวนทุเรียนพื้นเมือง เพื่ออนุรักษ์และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการปลูกทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ดี สำหรับการประกวดทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ แบ่งเป็นออกเป็น 2 ประเภท คือ ทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่เนื้อสีเหลือง และทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่เนื้อสีขาว โดยมีเกษตรกรจากทุกอำเภอในจังหวัดกระบี่ ร่วมส่งทุเรียนพื้นเมืองเข้าประกวด เป็นประเภททุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ เนื้อสีเหลือง จำนวน 149 ราย และประเภททุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ เนื้อสีขาว จำนวน 65 ราย ซึ่งผลการประกวดทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ ประเภททุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ เนื้อสีเหลือง รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ต้นทุเรียนชื่อสาวแดง ส่งเข้าประกวดโดย นายชาลี เสนศรี จากตำบลคลองหิน อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และผลการประกวดทุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ ประเภททุเรียนพื้นเมืองจังหวัดกระบี่ เนื้อสีขาว รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ต้นทุเรียนชื่อขาวมณี ส่งเข้าประกวดโดย นายอนิรุทธ์ วัฒนธรรม จากตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่
สำหรับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งกับเลขาธิการพระราชวังให้อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ ดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ และพระราชทานพระราชดำริ แนวทางการดำเนินงานมาเป็นระยะโดยตลอด มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากร อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช ให้เกิดประโยชน์แก่มหาชนชาวไทย ให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืช ร่วมคิดร่วมปฏิบัติจนเกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทย และมีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชที่สื่อถึงกันทั่วประเทศ