กรมส่งเสริมการเกษตร แนะดูแลสวน “ทุเรียนและสวนมังคุด” หลังการเก็บเกี่ยว
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะดูแลสวน “ทุเรียนและสวนมังคุด” หลังการเก็บเกี่ยว

ปัจจุบันสถานการณ์เก็บเกี่ยวไม้ผลภาคตะวันออก โดยเฉพาะผลไม้เศรษฐกิจหลัก 4 ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง กว่าร้อยละ 74 ของผลผลิตคาดการณ์ ปี 2566 ได้ถูกเก็บเกี่ยวแล้ว ซึ่งข้อมูลรายงานของศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจผลไม้ ปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 พบว่าทุเรียน เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 618,847.56 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 79.04) มังคุด เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 86,019.89 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 70.50) เงาะ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 80,000.04 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 56.69) และลองกองเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 1,926.04 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 27.06)

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ชาวสวนทุเรียนและสวนมังคุดกว่าครึ่งได้เก็บผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดการสวนให้สะอาด เรียบร้อย และบำรุงต้นเพื่อให้กลับมามีความสมบูรณ์ พร้อมสำหรับฤดูการผลิตในปีต่อไป กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีคำแนะนำการดูแลสวนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและมังคุดที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ดังนี้

1.สวนทุเรียน

การดูแลสวนทุเรียนหลังการเก็บเกี่ยว แบ่งได้ตามสภาพสวนได้ 3 ประเภท ดังนี้

1.1 สวนที่มีสภาพต้นค่อนข้างสมบูรณ์

-ตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 1-3 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ร่วมกับปุ๋ยคอก 20-50 กิโลกรัมต่อต้น

-ให้น้ำต้นทุเรียนเมื่อฝนทิ้งช่วง และถ้าฝนตกชุกควรขุดร่องเพื่อระบายน้ำออกจากสวน

1.2 สวนที่มีสภาพต้นค่อนข้างโทรม ทรงพุ่มไม่ค่อยดี มีปริมาณใบน้อย ใบค่อนข้างแห้ง สีของใบไม่เขียวเข้ม ซึ่งเกิดขึ้นกับต้นที่ไว้ผลมากเกินไปหรือดูแลไม่ดีช่วงไว้ผล ควรจัดการดังนี้

– เร่งการเจริญของราก โดยใส่ปุ๋ยเกร็ดสูตร 15-30-15 หรือ 10-20-30 หรือ 20-20-20 ที่มีธาตุอาหารรองและธาตุปริมาณน้อย อัตรา 60 กรัม ผสมกรดฮิวมิค 100-200 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ราดทั่วทรงพุ่มให้ทั่วทุก 7 วัน ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ แล้วคลุมด้วยเศษพืชหรือหญ้าแห้งและรดน้ำให้ชื้นตลอดเวลา เมื่อรากเจริญเติบโตดี ใบก็จะเจริญดีตามไปด้วย ส่งผลให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ขึ้น

1.3 สวนที่มีสภาพต้นทุเรียนทรุดโทรมมาก ใบมีสีเหลือง

– ต้นที่มีใบเหลืองเฉพาะบางกิ่ง เป็นอาการของโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดกับบางส่วนของต้นทุเรียน ให้เร่งแก้ไขในส่วนที่เกิดโรค และเร่งการเจริญของรากตลอดจนควรให้อาหารเสริมที่ต้นทุเรียนสามารถนำไปใช้ได้ทันที โดยฉีดพ่นไปให้ทั่วด้วยอาการเสริมสูตรทางด่วน ประกอบด้วย 1) สารอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ครอปไจแอน โพลีแซค มอลตานิค และฟลอริเจนฯ อัตรา 20-30 ซีซี (อาจใช้น้ำตาลซูโครส หรือแด็กซ์โตรส 600 กรัม) 2) กรดฮิวมิค อัตรา 20 ซีซี 3) ปุ๋ยเกร็ดสูตร 15-30-15, 20-20-20, หรือ 10-20-30 ที่มีธาตุอาหารรองและธาตุปริมาณน้อย อัตรา 40-60 กรัม โดยผสมรวมส่วนผสมทั้งหมด ในน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสารจับใบและสารป้องกันกำจัดเชื้อราด้วย และฉีดพ่นทุก 7 วัน ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

– ต้นที่มีใบเหลืองเฉพาะใบอ่อนหรือใบเพสลาดแต่ใบแก่มีสีเขียวปกติ เป็นอาการขาดธาตุอาหารรองและธาตุปริมาณน้อยบางชนิด จึงควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ (ธาตุเหล็กและแมกนีเซียม) ทุก 7 วัน ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

– ต้นที่มีใบเหลืองทั้งต้น ใบไม่ค่อยสมบูรณ์ ไม่สดใส แผ่นใบและเส้นกลางใบมีสีเหลือง และใบทุเรียนแสดงอาการขาดน้ำ แสดงว่าเชื้อราไฟทอปธอราทำลายระบบราก ให้เร่งแก้ไขอาการของโรคโดยเร็ว

2. สวนมังคุด

2.1 เตรียมความสมบูรณ์ของต้นหลังการเก็บเกี่ยว โดยเกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง ดังนี้

-ตัดแต่งกิ่งที่อยู่ด้านข้างของทรงพุ่มที่ประสานกันออก เพื่อให้มีช่องว่างระหว่างชายพุ่มกับต้นข้างเคียงประมาณ 50-75 เซนติเมตร เพื่อให้แสงส่องได้ทั่วถึง ในต้นมังคุดที่มีความสูงมากกว่า 8 เมตร หรือสูงเกินความสามารถที่เครื่องพ่นสารจะพ่นสารเคมีถึง ให้ตัดยอดส่วนที่สูงเกินต้องการออก

– ตัดกิ่งประธานและกิ่งรองออกบ้างเพื่อให้แสงส่องเข้าไปในทรงพุ่ม และเกิดการแตกกิ่งแขนงในทรงพุ่ม เพราะกิ่งแขนงในทรงพุ่มสามารถออกดอกได้เหมือนกิ่งที่อยู่นอกทรงพุ่ม และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี มีผิวนวลสวยและเก็บเกี่ยวสะดวก

– ตัดแต่งกิ่งกระโดง กิ่งในบริเวณปลายกิ่งที่ซ้อนทับกัน กิ่งที่ฉีกหักเสียหายและกิ่งที่ถูกโรคและแมลงทำลายออก

2.2 ทำความสะอาดแปลง โดยเก็บกิ่ง ใบผลที่ถูกตัดแต่งไปทำปุ๋ยหมัก และนำสาวนที่ถูกโรคและแมลงเข้าทำลายไปเผาทำลายนอกสวน

2.3 การใส่ปุ๋ย ช่วยบำรุงต้นหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ต้นมังคุดนำไปใช้ทดแทนอาหารที่สูญเสียไปในช่วงเลี้ยงผล และควรใส่ปุ๋ยทันทีหลังจากที่ทำการตัดแต่งกิ่งและทำความสะอาดสวนเรียบร้อยแล้ว โดยใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 4 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (เช่น ต้นมังคุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 10 เมตร ให้ใส่ปุ๋ยคอก 40 กิโลกรัมต่อต้น) และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ในอัตรากึ่งหนึ่ง (1/3 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม เช่น ต้นมังคุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 10 เมตร ให้ใส่ปุ๋ยเคมี 3.3 กิโลกรัมต่อต้น)  และควรหว่านปุ๋ยคอกไปพร้อม ๆ กับปุ๋ยเคมี โดยหว่านใต้ทรงพุ่มเข้าหาโคนต้นประมาณ 1 เมตร มังคุดจะแตกใบอ่อนหลังจากใส่ปุ๋ยประมาณ 1 เดือน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated