ดูแลพืชผัก

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งจะมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำให้เกษตรกรวางแผนการปลูกและรักษาพืชผัก เนื่องจากในช่วงฤดูฝนมีปริมาณน้ำมากและความชื้นในอากาศสูง อาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ หากเกษตรกรวางแผนการผลิตและดูแลรักษาไม่ดี ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอแนะนำ 7 เทคนิคการปลูกพืชผักให้เหมาะกับช่วงฤดูฝน ดังนี้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

1.การเลือกชนิดพืชผักที่เหมาะสม เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ พืชผักที่เหมาะสมสำหรับปลูกในฤดูฝน ได้แก่ ผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นจำพวกผักใบ เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ผักกาดหอม ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี คะน้า ผักเถาเลื้อย เช่น ตำลึง ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาวแตงร้าน ฟักทอง ฟัก แฟง มะระ ผักยืนต้น เช่น ชะอม พริก มะเขือ เป็นต้น

2. การเตรียมเมล็ดพันธุ์  ควรใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อราที่ติดมากั บเมล็ดควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น ประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับเมล็ดผัก

3. การเตรียมดิน ในฤดูฝนดินมีการอุ้มน้ำมาก หากรากพืชแช่อยู่ในน้ำนาน จะทำให้ขาดอากาศและตายในที่สุด ดังนั้น พืชผักที่มีรากไม่ลึกมาก ควรยกแปลงให้สูงไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมากกว่าเดิม เพื่อเพิ่มช่องว่างในดิน และใส่ปูนขาว อัตรา 100 – 200 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อลดความเป็นกรดของดิน

4. การจัดการแปลงปลูก ควรหาวัสดุคลุมแปลงเพื่อป้องกันเม็ดฝนที่สร้างความเสียหายแก่ผิวหน้าดินและระบบรากพืช โดยเฉพาะพืชที่มีระบบรากตื้น การคลุมแปลงโดยใช้วัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้งหรือใบไม้แห้ง นอกจากจะช่วยลดแรงกระแทกของเม็ดฝนแล้ว ยังเป็นการควบคุมวัชพืชได้อีกทางหนึ่ง

5. การกำจัดวัชพืช ในฤดูฝนวัชพืชจะเจริญเติบโตได้ดีและเป็นที่อาศัยของโรคแมลงศัตรูพืช การหมั่นกำจัดวัชพืชนอกจากจะทำให้พืชเจริญเติบโตดีแล้ว ยังเป็นการลดแหล่งอาศัยของศัตรูพืช และทำให้แสงแดดส่องถึงพื้นดิน ช่วยลดความชื้นและทำให้การระบายอากาศในแปลงผักดี

6. การรดแปลงผักด้วยน้ำปูนใสช่วยให้กล้าผักมีความแข็งแรง และเพิ่มอัตรารอดตายจากโรคพืชที่เข้าทำลายได้ การเตรียมน้ำปูนใส ทำได้โดยผสมปูนขาว 5 กิโลกรัมในน้ำ 20 ลิตร กวนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 1 คืนให้ตกตะกอน หลังจากนั้นนำน้ำปูนใส ที่ตกตะกอนแล้วผสมน้ำอัตรา 1 ต่อ 5 รดแปลงผักสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง

7. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ป้องกันกำจัดเชื้อราอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย มีวิธีการ ดังนี้

     – คลุกเมล็ดพันธุ์ ควรใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าชนิดผง ในอัตรา 10 – 20 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เติมน้ำลงไปเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ผลเพื่อจับติดเมล็ดได้ดีขึ้น และนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกทันที

      – ผสมกับดินปลูก ใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าในรูปเชื้อสด 1 ส่วน ผสมกับรำข้าว 10 ส่วน และปุ๋ยหมักหรือ ปุ๋ยคอก 40 ส่วน (โดยน้ำหนัก) ผสมให้เข้ากัน พรมน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ในที่ร่ม 1 – 3 คืน เพื่อให้เชื้อราเจริญเติบโต จากนั้นนำไปคลุกเคล้ากับดินปลูกหรือรองก้นหลุมประมาณ 1 กำมือต่อต้น หรือใช้โรยบริเวณโคนต้น หรือหว่านในแปลงที่ปลูกพืชแล้ว อัตรา 50 – 100 กรัมต่อตารางเมตร

      – รองก้นหลุมและหว่านลงแปลง ใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า  1กิโลกรัม ผสมกับรำละเอียด 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก 40 กิโลกรัม รองก้นหลุมปลูกผัก 15 -20 กรัมต่อต้น หรือหว่านในแปลงปลูก 50 – 100 กรัมต่อตารางเมตร

  –  ฉีดพ่นบริเวณโคน หรือใบต้นผัก โดยใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าในรูปเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์เทลงถังฉีดพ่นและเติมน้ำจนได้ 100 ลิตร ใช้ฉีดพ่นแปลงต้นกล้าบริเวณโคนต้นผัก หรือฉีดพ่นทางใบ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ควรระมัดระวัง หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เกษตรกรจำเป็นต้องให้น้ำแก่พืชอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ หากพืชขาดน้ำในช่วงนี้ เมื่อฝนตกลงมาอีกครั้งจะทำให้ผลผลิตเสียหาย โดยเฉพาะพืชผักรับประทานผลจะทำให้ผลแตก เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามและขอคำแนะนำได้จากสำนักเกษตรใกล้บ้านท่าน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated