กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ระยะที่ 1 จังหวัดฉะเชิงเทรา เพิ่มศักยภาพระบบชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และวิกฤตน้ำหลากที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า ณ จุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณอ่าวไทย
ปัจจุบันน้ำหลากจากทางภาคเหนือ ยังคงเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คลองชลประทานทั้งทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกลงสู่อ่าวไทยก็เกินศักยภาพของการระบายน้ำ ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ พื้นที่เกษตรกรรม แหล่งอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว ตลอดจนพื้นที่ชุมชน โดยเฉพาะมหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 สร้างความเสียหายมากถึง 20 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2555 กรมชลประทาน จึงศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อหาแนวทางสำหรับการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจนไหลลงทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ และแนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือ การปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก ร่วมกับ การก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากแนวใหม่ แม่น้ำป่าสัก – อ่าวไทย เพื่อให้สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระหว่างประชุม รับฟังบรรยาย
สำหรับโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากแนวใหม่ แม่น้ำป่าสัก – อ่าวไทย กรมชลประทาน ได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า OTS ดำเนินงานสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ระยะที่ 1 จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ และทำให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตะวันออกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤต โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงาน ทั้งสิ้น 720 วัน เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และสิ้นสุดสัญญา วันที่ 20 มิถุนายน 2566
ระหว่างบรรยายรายละเอียดของโครงการให้สื่อมวลชนฟัง
ผู้บริหารกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษามาให้ข้อมูล
และเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการดังกล่าวนี้ กรมชลประทานได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปดูจุดที่จะก่อสร้างคลองระบายน้ำป่าสัก-อ่าวไทย ซึ่งนำทีมโดย นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม โดยเริ่มต้นกันที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปผลการสำรวจออกแบบโครงการ จากนั้นผู้บริหารกรมชลประทานได้พาคณะสื่อมวลชนเดินทางเข้าเยี่ยมชมพื้นที่โครงการ เพื่อเก็บภาพบรรยากาศและยืนปักหลักให้สัมภาษณ์ ณ จุดสิ้นสุดโครงการบริเวณอ่าวไทย ตำบลคลองสอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
แผนที่..โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย
นายพิเชษฐ ได้สรุปผลสำรวจการออกแบบโครงการ โดยย่อว่า โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก – อ่าวไทย เป็นคลองขุดใหม่ที่ทำหน้าที่ระบายน้ำหลาก จากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักให้ไหลลงสู่อ่าวไทย มีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 135.555 กิโลเมตร เริ่มจากแม่น้ำป่าสักบริเวณ ต.เริงราง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ผ่านพื้นที่ 38 ตำบล 11 อำเภอ ใน 5 จังหวัด คือ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ รวมพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้งสิ้น 16,305 ไร่ ซึ่งการสำรวจ ออกแบบได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยโครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่ กม.81+000 (อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา) ถึง กม.135+555 (ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา) รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 54.555 กิโลเมตร
นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม
โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพระบบชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบายน้ำได้ 600 ลบ.ม./วินาที ลดการเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และวิกฤตน้ำหลากที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในพื้นที่อีกด้วย โดยสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในปลายฤดูฝนได้อีก 57.4 ล้าน ลบ.ม. สร้างความพึงพอใจและความกินดีอยู่ดีให้กับราษฎรในพื้นที่
คลอง ถนน อยู่ด้วยกัน และปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม
สะพานถนนสุวินทวงศ์
โครงการนี้ได้จัดประชุมปฐมนิเทศสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรและผู้มีส่วนได้เสียไปแล้ว 2 เวที ตั้งแต่วันที่ 19 – 20 ตุลาคม 2564 และการประชุมกลุ่มย่อยอีก 3 ครั้ง รวม 17 เวที ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 จนถึงเดือนมีนาคม 2566 และได้มีการจัดประชุมปัจฉิมนิเทศ ไปแล้วเมื่อวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
สะพานรถไฟ
สำหรับโครงการนี้ ใช้งบประมาณก่อสร้างจากการศึกษาเบื้องต้น เป็นค่าเวนคืนที่ดินประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท และค่าก่อสร้างคลองระบายน้ำรวมทั้งอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาท รวมมูลค่าโครงการร่วม 1 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากสำรวจ ออกแบบโครงการเสร็จสิ้นแล้วก็จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4-5 ปี จึงจะแล้วเสร็จ โดยทางกรมชลประทานจะรายงานความคืบหน้าแก่ประชาชนเป็นระยะ ๆ ต่อไป
สะพานถนนบางนา-ตราด
สะพานถนนมอเตอร์เวย์
สะพานถนนปกติ
คณะผู้บริหารกรมชลประทานที่นำสื่อมวลชนลงพื้นที่