วันนี้ (13 มิ.ย. 66) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “121 ปี กรมชลประทาน สู่อนาคต สู่ทศวรรษใหม่” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทาน ครบรอบปีที่ 121 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2566 โดยมี นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสำเริง แสงภู่วงศ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรแบะสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เข้าร่วม ณ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร มีภารกิจด้านการจัดหาแหล่งน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอในทุกภาคส่วน จึงได้เน้นย้ำเรื่องการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องร่วมมือกันดำเนินการ รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนใช้น้ำให้เกิดคุณค่ามากที่สุด พี่น้องเกษตรกรและประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อเพิ่มต้นทุนน้ำในอนาคต เป็นการเตรียมความพร้อมลดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
“จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ขอยืนยันว่า กรมชลประทานได้เตรียมแผนจัดสรรน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์ไว้เพียงพอ ส่วนน้ำภาคการเกษตร ขอฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรให้ช่วยกันรักษาและใช้น้ำอย่างมีคุณค่ามากที่สุด ทั้งนี้ขอเป็นกำลังใจให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมชลประทานทุกคน ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ปัญหาเพื่อประชาชนและประเทศชาติ และก้าวสู่ปีที่ 122 อย่างมั่นคง” รมว.เกษตรฯ กล่าว
ด้าน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 121 ปี แห่งการกำเนิดและวิวัฒนาการงานชลประทานในประเทศไทย จากกรมคลอง สู่กรมทดน้ำ จนถึงปัจจุบันก้าวสู่ทศวรรษที่ 13 กรมชลประทานได้ทุ่มเททำงานเพื่อสานต่องานด้านชลประทานอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง ตามภารกิจหลักภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้กว่า 49.5 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 93,655 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจากน้ำ รวมไปถึงมุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ Water Security เพิ่มคุณค่าการบริการ ก้าวสู่องค์กรอัจฉริยะภายในปี 2580 ตาม Road Map การดำเนินงานทั้ง 4 เฟส เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่
เฟส 1 (2561-2565) “เสริมพลังใหม่สู่การปรับเปลี่ยน” มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และโครงการพระราชดำริ ที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายโครงการ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้รวม 1,292.50 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.94 ล้านไร่
ในปี 2566 กรมชลประทานเริ่มก้าวสู่ เฟส 2 (2566-2570) “สร้างภาคีเครือข่ายและความร่วมมือ” มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการควบคุมและบริหารน้ำระบบอัจฉริยะ ก่อสร้างระบบชลประทานด้วยนวัตกรรมชั้นสูง สร้างระบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง เฟส 3 (2571-2575) “ปฏิรูปรูปแบบกระบวนงาน” Smart Water Operation Center และเฟส 4 (2576-2580) “มุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะ” พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานครอบคลุมทุกลุ่มน้ำ ระบบชลประทานครบสมบูรณ์
พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ยังกล่าวถึงการจัดงาน เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 13 ว่า กรมชลประทานได้จัดงานนิทรรศการ 2 รูปแบบ ได้แก่ นิทรรศการออนไลน์ “สู่อนาคต สู่ทศวรรษใหม่ 121 ปี กรมชลประทาน” เป็นนิทรรศการเสมือนจริงแบบ 3 มิติ จัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมางานด้านชลประทาน ผลงานตามภารกิจของกรมชลประทานตลอดจนทิศทางการขับเคลื่อนงานสู่เฟส 2 นอกจากนี้ภายในงานยังสามารถร่วมชมนิทรรศการในรูปแบบ On ground ภายใต้ชื่อนิทรรศการ “กรมชลประทาน 6 รัชกาล งานของแผ่นดิน” พร้อมจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน อาทิ การเสวนาพิเศษจากวิทยากรสุดเซอร์ไพรส์ ดร.อั๋น ภูวนาท คุนผลิน กับหัวข้อ “ปลุกพลัง RID TEAM สร้างความสำเร็จ สู่อนาคตใหม่” พิธีประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการพลเรือน และลูกจ้างประจำดีเด่น ประจำปี 2565 กิจกรรมมอบโล่รางวัลการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา โครงการชลประทาน และฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา ประจำปี 2566 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการขับเคลื่อนงานตามภารกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป
อีกทั้งยังมีกิจกรรม “มอบทุนต้นกล้าเกษตรคืนถิ่นเพื่อความยั่งยืน” ให้แก่บุตรเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกให้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ณ วิทยาลัยการชลประทาน กิจกรรมร่วมบริจาคโลหิตให้สภากาชาดไทย และกิจกรรมแจกกล้าไม้ อาทิ สักทอง พะยูง ยางนา ตะเคียนทอง รวม 520 กล้า รวมไปถึงการจัดจำหน่ายผลผลิตทางเกษตรจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภายใต้แผนพัฒนาอาชีพและแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริเวณด้านหลังอาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู