ชุมชนบางใบไม้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ โดยเรื่องราวของวิถีแห่งการทำมาหากินจากอาชีพการปลูกมะพร้าว และการแปรรูปมะพร้าว อันเป็นอาชีพหลักชาวบ้านมากกว่า 80 % และด้วยเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม มีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เหมาะที่จะปลูกมะพร้าว ผลมะพร้าวของที่นี่จะมีเนื้อหนา เมื่อเอามาคั้นจะได้น้ำกะทิที่เข้มข้น รสชาติหวานมัน
อีกทั้งสองข้างลำคลองยังหนาแน่นไปด้วยต้นจาก ใช้ประโยชน์ได้สารพัด ส่วนในคลองก็มีสัตว์น้ำตามธรรมชาตินานาชนิด รวมทั้งมีพืชที่เป็นสมุนไพรที่ยืนต้นเรียงรายอยู่เต็มสองฝั่งคลอง เรียกว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ความอุดมสมบูรณ์ มีของกินของใช้ไม่อดอยาก ทำให้ชาวชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฏร์ธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จึงได้เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้ ในปี 2559 และนำเสนอกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ กลายเป็นอีกหนึ่งเส้นทางการท่องเที่ยวหลักของพื้นทีแห่งนี้
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ชุมชนบางใบไม้ มีความโดดเด่นเรื่องการแปรรูปมะพร้าว การท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนมะพร้าวและการทำเกษตรสืบทอดจากบรรพบุรุษ วิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
“ในการท่องเที่ยวกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้ใช้เรือที่มีอยู่เดิมจากการทำประมงและใช้สัญจรทางน้ำ มาปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับรูปแบบการท่องเที่ยวทางเรือ ปัจจุบันในกลุ่มมีเรือไว้บริการนักท่องเที่ยว ประมาณ 10 ลำ มีโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยว 7 หลัง และเรือแต่ละลำจะโดยสารนักท่องเที่ยวไม่เกิน 10 คน พร้อมเสื้อชูชีพ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
สวนลุงสงค์ มี นายสมประสงค์ ศรีเทพ เป็นเจ้าของ คืออีกหนึ่งความโดดเด่นของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ประสบความสำเร็จ ด้วยการนำผลผลิตมะพร้าวที่มีอยู่มากในชุมชนมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จากเดิมเคยขายเฉพาะลูกมะพร้าวได้ผลละ 10-15 บาท แต่เมื่อนำมาทำสบู่ สามารถขายได้ก้อนละหลายสิบบาท หรือนำมาทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ราคาขวดละหลายร้อยบาท
รวมถึงการที่นักท่องเที่ยว ได้มีการนั่งเรือชมคลองแล้วขึ้นไปดูสวนลุงสงค์ ไปซื้อสินค้าที่ผลิตจากมะพร้าว ก็ทำให้ทั้งคนขับเรือและคนผลิตสินค้ามีรายได้ ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน
ที่สำคัญอีกประการ สวนลุงสงค์ ในวันนี้ ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ และการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรและการแปรรูป ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจมาศึกษาดูงานจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยผู้ที่เข้ารับการถ่ายทอดความรู้ สามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี
นายศุภชาติ ศรีเทพ บุตรชายของลุงสงค์ กล่าวว่า เนื่องจากมะพร้าวมีราคาผันผวน และรายได้จากการขายมะพร้าวเป็นลูกไม่เพียงพอ จึงคิดสร้างมูลค่าด้วยการแปรรูป ทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น จากนั้นก็เน้นกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน เพื่อการันตีคุณภาพของกระบวนการผลิตและผลลัพธ์ ทั้งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) มาตรฐาน GAP มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก จนได้รางวัลมากมายเช่น เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวนระดับจังหวัด และแพทย์แผนไทยสุราษฎร์ธานี นอกจากนั้นยังมีมาตรฐานที่แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน เช่น มาตรฐานคาร์บอนฟรุตปริ้น (carbon footprint)
นอกจากนี้ ยังเป็นแกนนำทางความคิดในการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนคนในบาง ในการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และกระจายรายได้ให้ชาวชุมชนของ 6 ตำบลในพื้นที่ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้สถานที่บ้านของตนเองเป็นจุดรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก พร้อมทั้งนำความรู้มาช่วยการท่องเที่ยวในชุมชนให้เกิดเครือข่ายที่เป็นรูปธรรม ทำการแปรรูปวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อเป็นของฝากของที่ระลึก สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาไม่ขาดสาย ซึ่งมีทั้ง นักเรียน นักศึกษา กลุ่มศึกษาดูงาน องค์กร และนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัดทั่วประเทศและต่างประเทศ
สำหรับการแปรรูปมะพร้าว และทำให้วัตถุดิบปราศจากของเสียเป็นศูนย์ หรือ Zero Waste มีดังนี้ 1) เนื้อมะพร้าว ใช้เป็นส่วนประกอบของขนมบ้าบิ่น ขนมมะพร้าวแก้วเกล็ดหิมะ คั้นน้ำกะทิทำเป็นไอศกรีม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน ส่วนที่เหลือจากการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นนำมาทำเป็น นมมะพร้าว และโปรตีนมะพร้าว โดยน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อีกกว่า 20 รายการ
เช่น 1.เจลอาบน้ำ สบู่ โลชั่น ครีมบำรุงต่าง ๆ และมีการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ผลิตสินค้าเพิ่มเติมอีก ได้แก่ แผ่นเช็ดเครื่องสำอาง น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแคปซูล และเซรั่มน้ำมันมะพร้าว 2) กากมะพร้าวที่เหลือจากการทำน้ำมันมะพร้าวนำมาทำขนมคุกกี้ แป้งมะพร้าว และ สปากากมะพร้าว 3) น้ำมะพร้าว นำมาทำน้ำส้มสายชูหมัก และจุลินทรีย์น้ำมะพร้าว 4) จั่นมะพร้าว ทำน้ำตาลมะพร้าว 5) กะลามะพร้าว นำมาทำของใช้ของที่ระลึกเช่น ช้อน ภาชนะ พวงกุญแจ กะลามะพร้าวนวดเท้า ถ่านกะลามะพร้าว 6) กาบมะพร้าว ทำวัสดุปลูกส่งต่อเข้าโรงงานแยกขุย และแยกใยมะพร้าว 7) ทางมะพร้าวส่วนที่เรียกว่าโป่ง เอามาทำเป็นที่ดัดเท้า วาดงานศิลปะ ย่อยเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในสวน 8) ก้านและใบมะพร้าว นำมาสานเป็นภาชนะเสวียนหม้อ และทำไม้กวาด 9) ลำต้น ทำเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ต่าง ๆ และ 10) มะพร้าวหน่อ นำมาทำเป็นบอนไซมะพร้าว
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วยวัดบางใบไม้ ตลาดน้ำประชารัฐบางใบไม้ (เปิดทุกวันอาทิตย์) บ้านโบราณ 200 ปี สวนลุงสงค์ ศูนย์เรียนรู้น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และอุโมงค์ต้นจาก
ส่วนกิจกรรมที่สำคัญที่จัดไว้สำหรับนักท่องเที่ยว เช่น การไหว้หลวงพ่อข้าวสุกพระพุทธรูปคู่ชุมชน ล่องเรือไปตามลำคลองชมธรรมชาติและวิถีชีวิตคนในบาง ชมบ้านโบราณจุดกำเนิดของชุมชน และที่พักโฮมสเตย์ โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักและท่องเที่ยวในชุมชนบางใบไม้ ต่างได้รับความรู้ในกระบวนการแปรรูปมะพร้าว ความเพลิดเพลินกับสถานที่ต่าง ๆ และการพักผ่อนที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติท้องถิ่น
สำหรับผู้สนใจต้องการเข้าไปสัมผัสความงดงามบนวิถีการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในสถานที่แห่งนี้ สามารถติดต่อได้ที่ นายศุภชาติ ศรีเทพ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลบางใบไม้ เลขที่ 109 หมู่ 3 ตำบลบางใบไม้ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร.08-1589-8635