นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประยูร อินสกุล) ให้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ครั้งที่ 4/2566 โดยมี พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายณฤทธิ์ บุญชัย ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (1403) และผ่านระบบ Zoom Meeting
นายสุรเดช เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่จะทำการส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด ซึ่งจากผลการดำเนินงานของคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพฯ ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันผลักดันการดำเนินงานทุเรียนคุณภาพทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้กันอย่างเข้มข้น และขอชื่นชมทุกหน่วยงานที่ดำเนินการตามนโยบายและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและควบคุมในระยะต่อไป พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการถอดบทเรียนทุเรียนภาคตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับจัดระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพให้เข้มข้นยิ่งขึ้น บูรณาการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ อีกทั้ง ที่ประชุมได้เห็นชอบให้พิจารณาแนวทางการจัดทำแอพพลิเคชั่นมาใช้กับระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้รายงานสถานการณ์การส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีน (สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย.66) ส่งออก 41,189 ชิปเมนต์ ปริมาณ 686,455.77 ตัน คิดเป็นมูลค่า 89,207.39 ล้านบาท
พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย นายประยูร อินสกุล
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ปี 2566 ดังนี้ 1. ภาคตะวันออก 1.1) ตรวจก่อนตัด เกษตรกรนำผลผลิตทุเรียนมาตรวจฯ 14,477 ตัวอย่าง 1.2) ตรวจก่อนปิดตู้ แบ่งเป็น ก่อนประกาศวัน เก็บเกี่ยวทุเรียน ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 15 เม.ย.66 ตรวจสอบโรงคัดบรรจุ 528 โรง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน 4,998 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจ 4,683 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 93.70) หลังประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ระหว่างวันที่ 16 เม.ย. – 22 มิ.ย.66 ตรวจสอบโรงคัดบรรจุ 8 โรง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน 1,061 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจ 1,040 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 98.02) 1.3) ขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัด จ.จันทบุรี รวม 9,908 ราย (ณ วันที่ 5 ก.ค. 66) โดยขอเชิญชวนจังหวัดที่จะเริ่มมีผลผลิตทุเรียน เข้ามาใช้บริการระบบลงทะเบียนนักคัดนักตัด ได้ที่ลิงค์ https://produrian.rmutto.ac.th/data/ ซึ่งมีรายละเอียด ชื่อ – นามสกุล ประเภทของนักคัดนักตัด และประสบการณ์ตัดทุเรียน และ 2. ภาคใต้ 2.1) ตรวจก่อนปิดตู้ ก่อนประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 9 มิ.ย.66 ตรวจสอบโรงคัดบรรจุ 42 โรง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน 323 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจ 307 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 95.05) หลังประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ระหว่างวันที่ 10 มิ.ย. – 30 มิ.ย.66 ตรวจสอบโรงคัดบรรจุ 232 โรง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน 701 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจ 673 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 96.01) 2.2) ขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัด จ.ชุมพร จำนวน 1,139 ราย ได้จัดอบรมนักคัดนักตัดแล้ว 2,934 ราย (ชุมพร 2,826 ราย และ สุราษฎร์ธานี 108 ราย)
อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรอง GAP ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้นั้น เพื่อให้เป็นการป้องกันและควบคุมคุณภาพทุเรียนเพื่อการส่งออก ที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเข้มงวด ดังนี้ 1. กรมวิชาการเกษตร กำกับ ควบคุม ตรวจสอบ และประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตรวจสอบควบคุมคุณภาพการผลิตหลังการออกใบรับรอง GAP และ GMP ให้กับสวนทุเรียนและผู้ส่งออกทุเรียน ตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืชในสินค้าทุเรียนและหากพบทุเรียนด้อยคุณภาพ ให้ใช้มาตรการทั้งทางการปกครองและทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดโดยทันที ตลอดจนเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวัง ควบคุม และการตรวจสอบกักกันทุเรียนส่งออกและนำเข้า กรณีที่มีการสวมสิทธิ์ทุเรียนให้มีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด โดยการถอดถอนใบรับรอง GAP และ GMP และให้มีการดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดทุกระดับตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัดในการควบคุมป้องกัน พร้อมทั้งสั่งการและควบคุม ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบทางราชการโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และมีการทุจริต ให้หัวหน้าหน่วยงานสั่งการดำเนินการทางวินัยอย่างเคร่งครัด 2. กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพในทุกพื้นที่ทุกแปลง ทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตนอกฤดูและตามฤดูกาลผลิต เพื่อให้มีการจำหน่ายผลผลิตคุณภาพ และให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัดในการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาทุเรียนออกสู่ตลาด รวมทั้งสั่งการและควบคุม ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบทางราชการโดยเคร่งครัด และ 3. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด และสหกรณ์จังหวัด ทุกจังหวัดที่มีผลผลิตทุเรียน ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยหากมีสถานการณ์ขอให้รายงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบโดยด่วน