อนาคตชาวนากับการทำนาแบบใช้น้ำน้อย

รับมือสภาพภูมิอากาศผันผวน THAICID  เปิดเสวนา “อนาคตชาวนากับการทำนาแบบใช้น้ำน้อย Chapter 4”  ส่งเสริมเกษตรกรทำนาแบบใช้น้ำน้อย เรียนรู้การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีค่า  พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนในอนาคต

คณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศในนาข้าว (INWEPT-Thailand) จัดเสวนา “อนาคตชาวนากับการทำนาแบบใช้น้ำน้อย Chapter 4” พัฒนาภาคการเกษตรภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่เกษตรสมัยใหม่ “ผลิตน้อย แต่สร้างรายได้มาก” ส่งเสริมเกษตรกรทำนาแบบใช้น้ำน้อย ช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต  สร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร

เมื่อวันที่  4 ก.ค.66 ที่สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี   ดร.วัชระ  เสือดี  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) ประธานคณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศในนาข้าว พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล  รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายบำรุงรักษา  รองประธานคณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศในนาข้าว นายวิทยา  แก้วมี   รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ   และผู้แทนจากกรมการข้าว   กรมส่งเสริมการเกษตร   กรมพัฒนาที่ดิน   โครงการความร่วมมือThai Rice NAMA    ตลอดจนเกษตรกรต้นแบบSmart Farmer เข้าร่วมเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “อนาคตชาวนากับการทำนาแบบใช้น้ำน้อย Chapter 4”  ภายใต้งาน “สัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี พ.ศ. 2566”  ดำเนินรายการโดย นายรสุ  สืบสหการ  ผู้อำนวยการส่วนถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการชลประทาน 

เป้าหมาย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และเทคโนโลยีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นปัจจุบัน  กระตุ้นกระแสการตื่นตัวของการอนุรักษ์น้ำและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อยและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางในการขับเคลื่อน ส่งเสริม ขยายผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการทำนาแบบใช้น้ำน้อยหรือการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง คือ การทำนาที่มีการควบคุมระดับน้ำในแปลงนา  สามารถลดปริมาณการใช้น้ำในการทำนาข้าวได้มากถึงร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบทั่วไป  นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้เมล็ดพันธุ์  ปุ๋ย  และสารเคมี  รวมถึงลดการจ้างแรงงาน ทั้งยังช่วยเพิ่มคุณภาพข้าว ปริมาณผลผลิตและกำไรให้เกษตรกรอีกด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated