บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดตัว Young Smart Farmer (YSF) ที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก 30 คนสุดท้าย จากโครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” ครั้งแรกของการจัดการแข่งขันพัฒนาแปลงเพาะปลูกข้าว ด้วยนวัตกรรมปฏิทินเพาะปลูก KAS Crop Calendar ที่ได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อปลุกพลังเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ก้าวสู่การทำเกษตรแม่นยำ ด้วยโซลูชัน “ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้” ล่าสุดเกษตรกรผู้เข้ารอบเตรียมตัวสู้ศึกพัฒนาแปลงเกษตรอัจฉริยะด้วยปฏิทินเพาะปลูก KAS Crop Calendar ในฤดูทำนาที่กำลังมาถึง เพื่อชิงรางวัลรวมมูลค่า 7 แสนบาท และถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมบินไปดูงาน Smart Farming ที่ประเทศญี่ปุ่น
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ ที่ปรึกษาสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท เกษตรอินโน จำกัด กล่าวถึงเทรนด์ของภาคการเกษตรว่า ในปัจจุบัน เราได้ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อเกษตรกร แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายทางสู่มือผู้บริโภค จะเห็นได้ว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้การส่งเสริมเรื่องการใช้เครื่องมือ และแพลตฟอร์มต่างๆ มาช่วยเติมเต็มให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือที่ช่วยให้การทำเกษตรเกิดความแม่นยำ และลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผันแปรของปัจจัยทางธรรมชาติ
สำหรับสยามคูโบต้าได้มีการส่งเสริมการทำ Smart Farming ผ่าน ปฏิทินเพาะปลูก KAS Crop Calendar ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญขององค์ความรู้ด้านการเกษตรครบวงจรที่เรียกว่า “KUBOTA (Agri) Solutions” หรือ KAS โดยครอบคลุมการเพาะปลูกในแต่ละพืชตลอดทั้งกระบวนการ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรเห็นผลลัพธ์การใช้งานจริงของปฏิทินเพาะปลูก KAS Crop Calendar สยามคูโบต้าจึงได้จัดโครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” โดยดำเนินการรับสมัครเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 17-45 ปี เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการเกษตรแม่นยำที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรให้เติบโต
ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้ารอบในโครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” ได้มาร่วมเรียนรู้การใช้งานจริงของปฏิทินเพาะปลูก KAS Crop Calendar ซึ่งเป็นโซลูชันนวัตกรรมองค์ความรู้ด้านการเกษตร และได้เห็นกระบวนการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรและแปลงนาภายในคูโบต้าฟาร์ม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตรและแปลงเพาะปลูกในพื้นที่ของตัวเอง พร้อมรับแรงบันดาลใจจากนายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) ซึ่งเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวงการข้าวไทย และยังได้รับความรู้ในการทำคอนเท้นท์ออนไลน์เพื่อขยายช่องทางการตลาดให้เกิดเป็นรายได้ในหัวข้อ TikTok Content Creator จากนายศรัณย์ แบ่งกุศลจิต ซีอีโอ บริษัท Uppercuz Creative จำกัด เจ้าของช่อง TikTok การตลาดการเตลิด เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้เข้าแข่งขันในโครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” ได้นำความรู้ต่างๆ กลับไปพัฒนาแปลงนาของตนเองตลอด 5 เดือนในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกนี้ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต่างมุ่งมั่นในการเตรียมพร้อมสู้ศึกครั้งนี้อย่างเต็มที่
นายเอกราช ขอพึ่ง
นายเอกราช ขอพึ่ง เกษตรกรชาวสุพรรณบุรี อายุ 41 ปี บอกว่า “นวัตกรรมปฏิทินเพาะปลูก KAS Crop Calendar เปรียบเสมือนกับการใช้สมุดโน้ตที่มีการทำ Crop Farming ให้ดูเป็นตัวอย่าง ทำให้เราเห็นภาพรวมในการทำเกษตรมากขึ้น อีกทั้งยังมีความสะดวกสบาย เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานบนมือถือ สามารถเปิดดูได้ตลอดทุกที่ทุกเวลา นอกจากนี้ยังมีระบบรายรับ – รายจ่ายด้วย ในอนาคตผมตั้งใจถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากโครงการ ให้แก่ชาวนาและเกษตรกรท่านอื่น เนื่องจากยังมีชาวนาจำนวนมากยังอาศัยประสบการณ์ ความคุ้นชินในการทำนา และขาดการวางแผนจึงส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูง ผมจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปถ่ายทอดความรู้นี้ครับ”
นางสาวฉัตรกมล มาฉาย
นางสาวฉัตรกมล มาฉาย เกษตรรุ่นใหม่วัย 17 ปี ผู้เข้าแข่งขันอายุน้อยที่สุดในโครงการจากจังหวัดกำแพงเพชรกล่าวว่า “ต้องการปรับเปลี่ยนแนวคิดของเกษตรกรรุ่นใหม่ว่า การทำเกษตรนั้น ไม่ได้มีความยุ่งยากหรือล้าหลังอย่างที่เราคิด ซึ่งทางสยามคูโบต้ามีนวัตกรรมในการทำเกษตรสมัยใหม่ที่หลากหลาย จึงมีความสนใจเข้ามาศึกษา และตั้งใจจะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการนี้ให้แก่เกษตรกรท่านอื่น ๆ ในชุมชนได้เรียนรู้ไปด้วยกันค่ะ และการแข่งขันครั้งนี้หนูมีความมั่นใจมากเพราะได้รับกำลังใจมากมายจากครอบครัวและพี่ๆ เกษตรกรที่ชุมชนค่ะ”
นางสาวพิลาสลักษณ์ อนันตธนโชคดี
นางสาวพิลาสลักษณ์ อนันตธนโชคดี ซีอีโอสาววัย 38 ปี เจ้าของไร่แม่นาย จังหวัดพะเยา กล่าวว่า “สยามคูโบต้ามีความเชี่ยวชาญในด้านเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้ด้านการเกษตร รวมถึงมีคูโบต้าฟาร์มที่เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเกษตรกร จึงสนใจอยากเข้าร่วมโครงการเพราะจะได้นำมาปรับใช้และส่งเสริมการทำฟาร์มของเราเอง ซึ่งที่ไร่แม่นายจะเป็นการบริหารธุรกิจด้วยระบบ Backward Integration ที่ครอบคลุมไปถึงการผลิตวัตถุดิบอย่างครบวงจรจากต้นน้ำ มีสวนผลไม้ แปลงข้าวอินทรีย์ ไวน์ออแกนิก ถ้าเรานำนวัตกรรมปฏิทินเพาะปลูก KAS Crop Calendar เข้ามาช่วยบันทึกข้อมูลจะช่วยให้การทำเกษตรดีขึ้น สามารถตอบโจทย์การมุ่งหวังให้เป็น Precision Farming ในอนาคตที่มีความสากลและยั่งยืน นอกจากนี้ยังตั้งใจเผยแพร่ความรู้จากการใช้นวัตกรรมนี้ไปยังกลุ่มเกษตรกร และลูกค้า รวมไปถึงผู้ประกอบการ SME กลุ่ม Startup กลุ่ม Young Smart Farmer ที่เรามีโอกาสไปช่วยทำแผนธุรกิจและบรรยายพิเศษให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ”
นายวิญญู คำหอม
นายวิญญู คำหอม วิศวกรวัย 38 ปี ผู้ผันตัวเองมาเป็นชาวนาได้ราว 5 ปี ชาวจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “ในช่วงแรกที่เข้ามารับช่วงต่อจากรุ่นพ่อพบว่า ปัจจัยจากการทำนาแบบเดิมทำให้ผลผลิตไม่ได้จำนวนตามต้องการ จึงได้ทำการศึกษาเครื่องปรับระดับหน้าดินระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling) และออกแบบเครื่องปั่นดินร่วมกับเครื่องหยอดเมล็ดเข้าด้วยกัน ทำให้ช่วยต้นทุนได้ถึง 60-70 % ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 450 เป็น 550 กก./ไร่ แต่ในขณะเดียวกันยังไม่ได้มีขั้นตอนในการบริหารจัดการทำนามากนัก จึงมีความสนใจการใช้นวัตกรรมปฏิทินเพาะปลูก KAS Crop Calendar มาช่วยควบคุมและจดบันทึก เพื่อได้รู้ว่าต้องทำอะไรในช่วงไหน เมื่อมีระบบบริหารดีขึ้นคาดว่าผลผลิตจะดีขึ้นตามมา นอกจากนี้เรายังสามารถนำไปแนะนำให้เกษตรกรในชุมชนเห็นเป็นตัวอย่างได้ด้วย เพราะผมอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้อาชีพทำนา ช่วยให้เขาลดต้นทุน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากที่เป็นอยู่ครับ”
สำหรับผู้เข้าแข่งขันจะปลูกด้วยวิธีดำนาหรือหยอดเมล็ด โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้าตลอด 4 ขั้นตอน ได้แก่ เตรียมดิน ปลูกข้าว บำรุงรักษาแปลง จนกระทั่งเก็บเกี่ยว พร้อมใช้สมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ในการบันทึกข้อมูลการเพาะปลูกตามปฏิทินปลูกข้าว KAS Crop Calendar เพื่อทำการส่งข้อมูลและรายงานผล โดยคณะกรรมการจะเก็บรวมรวบคะแนนและลงพื้นที่ตรวจแปลงเพาะปลูกเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะที่สามารถใช้เครื่องมือปฏิทินปลูกข้าว KAS Crop Calendar ได้ครบทุกขั้นตอน และได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ เพื่อชิงรางวัลรวมมูลค่า 7 แสนบาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และบินไปดูงาน Smart Farming ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการประกาศผลผู้ชนะในช่วงเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้