แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลควนโดน

กรมส่งเสริมการเกษตร ชูแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลควนโดน จังหวัดสตูล เป็นต้นแบบด้านการตลาด และผลผลิตมีคุณภาพ หลังเซ็น MOU กับผู้ประกอบการรับซื้อปาล์มจนต่อรองราคาได้สูงกว่าราคาตลาด พร้อมเน้นให้รักษามาตรฐานคุณภาพการผลิต การลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 20

ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ และจังหวัดสตูล ที่ผ่านมามีราคาผันผวน กระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นวงกว้าง การรวมตัวของเกษตรกรเป็นแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร จึงเป็นหนึ่งทางออกเพื่อแก้ปัญหาด้านราคา แหล่งรับซื้อ และคุณภาพของปาล์มน้ำมัน ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล และสำนักงานเกษตรอำเภอควนโดน ได้ตั้งเป้าหมาย 5 ด้าน เพื่อให้แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันเกิดการลดต้นทุนการผลิต 20% เพิ่มผลผลิต 20%  พัฒนาคุณภาพได้มาตรฐาน บริหารจัดการที่ดี และ การตลาดที่แน่นอน ปัจจุบันแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลควน มีสมาชิก 183 ราย พื้นที่ปลูกรวม 1,111 ไร่  มีนายศุภเรศน์  แซะอามา  เป็นประธานฯ ได้รับองค์ความรู้ด้านการดูแลสวน  การจัดการสวน  ตลอดจนการตลาด  กระทั่งสามารถผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพ  และต่อรองราคาได้สูงกว่าท้องตลาด

นายชาญณรงค์ วิรุณสาร เกษตรจังหวัดสตูล  กล่าวว่า  จังหวัดสตูลมีการส่งเสริมระบบแปลงใหญ่รวมทั้งสิ้น 51 แปลง  เป็นแปลงด้านพืช 44 แปลง  นอกนั้นเป็นแปลงด้านปศุสัตว์  ประมง  และแมลงเศรษฐกิจ  คือผึ้งโพรงอีก  1  แปลง  รวมเป็น  51 แปลง  สำหรับแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันมีทั้งหมด 15 แปลง และแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลควนโคน เป็น 1 ใน 15 แปลงใหญ่ ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าให้องค์ความรู้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น โดยใช้หลักวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำ  เน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ให้ปุ๋ยถูกชนิด ถูกเวลา และถูกสัดส่วน รวมไปถึงเรื่องพันธุ์ต่างๆ  ที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของปาล์ม

นอกจากนี้ยังเน้นให้เกษตรกร ให้ความสำคัญกับมาตรฐานคุณภาพของปาล์ม โดยปาล์มที่ตัดทุกทะลายจะต้องมีคุณภาพเป็นปาล์มที่แก่จัด ทำให้ที่ผ่านมาทางสมาชิกแปลงใหญ่สามารถต่อรองเรื่องราคากับลานเท ซึ่งเป็นสถานที่รับซื้อ หรือขาย หรือนำส่งทะลายปาล์มน้ำมัน ไปยังโรงงานสกัดน้ำมันได้ ทำให้เกษตรกรได้ราคาขายมากกว่าท้องตลาด หรือได้ราคาดีกว่าการที่ต่างต่างคนต่างขาย

“สิ่งสำคัญตอนนี้คือศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคลำต้นเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อรา กาโนเดอร์มา (Ganoderma boninense)  ที่เกษตรกรบางส่วนยังไม่ทราบถึงอันตราย ทางสำนักงานเกษตรจังหวัด โดยกลุ่มอารักขาพืช และศูนย์จัดการพืชชุมชน(ศจช.) จึงได้ลงพื้นที่สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันให้เกษตรกรได้ทราบ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองแปลงต้นแบบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากประสบผลสำเร็จจะแจ้งข่าวให้เกษตรกรทราบต่อไป”เกษตรจังหวัดสตูล  กล่าว

ด้าน นายศุภเรศน์  แซะอามา ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลควนโดน  กล่าวถึงการบริหารจัดการกลุ่มว่า เกษตรกรได้รวมตัวกันอยู่แล้วในนามวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่อำเภอควนโดน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ทำสวนปาล์มและสวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน และจำปาดะ เมื่อทางสำนักงานเกษตรจังหวัด ได้เข้ามาส่งเสริมให้รวมตัวเป็นแปลงใหญ่ จึงต่อยอดได้เลย โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำ ให้องค์ความรู้ในด้านการดูแลรักษาต้นปาล์ม การจัดการแปลงให้ผลผลิตมีคุณภาพ โดยเริ่มการคัดเลือกพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่จะเอามาปลูก ทางกรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำว่าต้องมีใบรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรถึงจะเอามาปลูกได้ เพราะมีคุณภาพ และได้มาตรฐาน ส่วนการปลูกก็มีการอบรมให้ความรู้ โดยเฉพาะการจัดการแปลงที่ให้เฝ้าระวังเรื่องแมลง และป้องกันไม่ให้หนูมาแทะหรือกัดกินปาล์มต้นเล็ก โดยแนะนำให้ถางหญ้าบริเวณรอบ ๆ ต้นปาล์ม อย่าปล่อยให้หญ้ารก และแนะนำการใช้ปุ๋ยให้ถูกวิธี และถูกสัดส่วนเพื่อให้ปาล์มมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและได้คุณภาพ 

“สำหรับผลผลิตโดยรวมของแปลงใหญ่  เริ่มจากตอนที่ยังไม่ได้เข้ากลุ่มไม่มีองค์ความรู้ ต่างคนต่างทำ ผลผลิตเฉลี่ยตอนนั้นอยู่ที่ 2.3 ตันต่อไร่ต่อปี แต่หลังจากที่เราได้รวมกลุ่มกัน  มีองค์ความรู้จากที่เจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำ ได้พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็น 2.5 ตัน ถึง 2.7 ตันต่อไร่ และล่าสุดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราได้ผลผลิต 3.2 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ถือเป็นผลผลิตที่น่าภาคภูมิใจ”

ส่วนวิธีการขาย ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลควนโดน ระบุว่า สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ทุกคนจะเน้นตัดเฉพาะปาล์มที่แก่จัดหรือปาล์มสุก ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 21% ขึ้นไป  เมื่อทางกลุ่มมีปาล์มที่มีคุณภาพมากกว่า 90% ก็ได้ทำ MOU กับลานเท เพื่อป้อนผลผลิตตามจำนวนที่ตกลงกันในแต่ละวัน โดยได้ราคาเพิ่มจากท้องตลาด 20 สตางค์ เช่นวันนี้ราคาปาล์มอยู่ที่ 5.60 บาทต่อกิโลกรัม ทางกลุ่มจะได้อย่างน้อย 5.80 บาท หรือ บางคนที่มีปาล์มคุณภาพมาก ๆ จะได้เพิ่มถึง 40 สตางค์  อันนี้คือเป็นผลดีกับเกษตรกรที่ได้เข้าร่วมเป็นแปลงใหญ่ ที่สามารถต่อรองราคากับผู้ประกอบการได้ ส่วนความต้องการของปาล์มในตลาดโลกคิดว่าจะเพิ่มขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ราคาปาล์มยังสูงกว่าไทยถึง 1-1.50 บาท ต่อกิโลกรัม

ขณะที่ นายเจ๊ะบารอเหม ยาหลี เจ้าของลานปาล์มครูเหม ตำบลทุ่งนุ้ย  อำเภอควนกาหลง ที่ทำ MOU กับเกษตรกรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลควนโดน กล่าวถึงข้อดีเมื่อได้ทำ MOU ร่วมกับแปลงใหญ่ปาล์มฯว่า เมื่อทำข้อตกลงกัน เกษตรกรก็จะมาขายให้เราเป็นประจำ ถ้าไม่ทำข้อตกลงกันไว้ เกษตรกรจะไปขายที่อื่น ทำให้ผลผลิตเข้ามายังลานเทไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังได้คุณภาพปาล์มตามที่ต้องการ เมื่อส่งไปยังโรงงาน ทางโรงงานก็อัพราคาขึ้นให้ ทางลานเทก็ปรับราคาให้เกษตรกรอีกทอดหนึ่ง ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ ทั้งเกษตรกร เจ้าของลานเท และโรงงานสกัดน้ำมัน

“ปัจจุบันมีผลผลิตปาล์มเข้ามาที่ลานเท ประมาณ 18-20 ตันต่อวัน แล้วแต่ช่วงจังหวะฝนตกหรือจังหวะที่ผลผลิตน้อย ถ้าปริมาณขนาดนี้ ถือว่าลานเทสามารถอยู่ได้ เพราะมีลูกค้าที่ชัดเจน โดยเฉพาะแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลควนโดน เป็นลูกค้าสำคัญของลานเท เพราะเรามั่นใจว่ามีปาล์มส่งให้โรงงานแน่นอน และในอนาคตเชื่อว่าตลาดปาล์มน้ำมัน จะมีความต้องการมากขึ้น เพราะเกษตรกรบางส่วนหันมาปลูกปาล์มมากขึ้น จากเดิมปลูกเฉพาะยางพารา เพราะปาล์มดูแลรักษาง่าย โรคแมลงน้อย และได้ราคาดี” เจ้าของลานปาล์มครูเหม กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated