ปลัดเกษตรฯ หารือร่วมภาครัฐ-ภาคเอกชน ขยายช่องทางตลาดรองรับผลผลิตมังคุดที่จะออกสู่ตลาด เน้นการผลิตมังคุดคุณภาพ

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการขยายช่องทางการกระจายผลผลิตมังคุดภาคใต้ที่จะออกสู่ตลาด เน้นการผลิตมังคุดคุณภาพ โดยมี นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) นางสาววิภาวลี วัจจนาภิญโญ นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย พร้อมด้วยผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้แทนหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ภาคใต้ (นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง และสงขลา) เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จตุจักร กรุงเทพฯ และผ่านการประชุมออนไลน์

ปลัดเกษตรฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2566 เป็นช่วงที่ผลผลิตมังคุดทั้งประเทศมีการเก็บเกี่ยวมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 58.63 ของผลผลิตมังคุดทั้งปี โดยแหล่งผลิตมังคุด 5 อันดับแรกของประเทศไทย ได้แก่ จ.จันทบุรี จ.นครศรีธรรมราช จ.ชุมพร จ.ตราด และ จ.นราธิวาส ตามลำดับ ซึ่งช่วงนี้มังคุดในภาคใต้มีราคาปรับตัวลดลง โดยคาดว่าจะมีผลผลิตมังคุดออกสู่ตลาดในเดือนสิงหาคม 2566 ประมาณ 5,000 ตัน และในเดือนกันยายน 2566 ประมาณ 11,200 ตัน ซึ่งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แจ้งแผนงานรองรับในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2566 ได้แก่ 1) รณรงค์ให้เกษตรกรรวมกลุ่มทั้งทางการและไม่เป็นทางการ 2) คัดเกรดมังคุด 3) ประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการนำล้งไปรับซื้อมังคุดที่กลุ่มเกษตรกร และ 4) จำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายช่องทางตลาดรองรับผลผลิตมังคุดล้นตลาด และเน้นการผลิตมังคุดคุณภาพ ดังนี้ 1) เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างการรับรู้กับพี่น้องเกษตรกร 2) กรมส่งเสริมสหกรณ์ให้เร่งรัดการกระจายออกนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.นครศรีธรรมราช จำกัด (สกต.นครศรีธรรมราช) และสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด รวมถึงเพิ่มจุดกระจายมังคุด 3) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้แจ้งสถาบันเกษตรกร กลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน ว่าจะมีการเปิดจุดจำหน่ายที่ อ.ต.ก.ตรัง อ.ต.ก.สงขลา อ.ต.ก.กรุงเทพ และอาจพิจารณาเพิ่มจุดจำหน่ายที่อื่น เพื่อรองรับการบริหารจัดการมังคุดภาคใต้ และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคภายในประเทศซื้อมังคุดเพิ่มขึ้น 4) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 (สวพ.7) กรมวิชาการเกษตร ให้สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรแปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชม ร่วมกันยื่นขอ GAP เพื่อเน้นการผลิตมังคุดคุณภาพ และ 5) กรมส่งเสริมการเกษตร ติดตามการรายงานสถานการณ์การผลิตและการตลาด นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือ สมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย ช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มจากเดิมให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันเวลา.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated