การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน มีหลายโครงการที่ให้ผลผลิต ผลลัพธ์ แห่งความสำเร็จ วันนี้ขอหยิบยก โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ ภายใต้การดำเนินงานใน 45 กลุ่มบ้าน ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา ที่ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงเฉลี่ย 1,200 เมตรจากระดับน้ำ ทะเล ประชากรในพื้นที่ 6,309 ครัวเรือน 30,722 ราย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ไทใหญ่ อาข่า ลัวะ ลีซอ ลาหู่ จีนยูนาน เมี่ยน และไทยพื้นเมือง เดิมร้อยละ 75 ของประชากรมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพภาคเกษตร ส่วนหนึ่งเป็นการปลูกกาแฟอาราบิกาในพื้นที่ 1,430 ไร่ มีรายได้เฉลี่ย 30,000–50,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2553 สวพส.ได้นำโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลองเข้าไปในพื้นที่ และปี พ.ศ.2555 ได้ร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานเครือข่ายแก้ไขปัญหา ทั้งกาแฟพันธุ์เดิมที่เคยปลูกในพื้นที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นค่อนข้างตํ่า การแปรรูปเมล็ดกาแฟไม่มีคุณภาพ เพราะขาดความรู้ในการปลูกและกระบวนการแปรรูปกาแฟที่ถูกต้อง ทำให้ถูกกดราคาและปฏิเสธการรับซื้อ และยังพบการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกินเป็นวงกว้าง
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน โดยนำหลักการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแบบโครงการหลวง ซึ่งมีความสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) และเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) มาเป็นเข็มทิศในการดำเนินงาน มีการปรับระบบการผลิตจากการปลูกกาแฟกระจายทั่วไปในพื้นที่ว่างหรือปลูกในแปลงปลูกมาเป็นการปลูกภายใต้ร่มเงาไม้กว่า 2,700 ไร่ มีการนำเทคโนโลยี และองค์ความรู้จากงานวิจัยมาใช้ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การแปรรูป และการจำหน่ายกาแฟคุณภาพที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รวมทั้ง สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลิตภาพและการผลิตกาแฟให้เกษตรกรในพื้นที่ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การปลูก การจัดการสวน (ต้นน้ำ) การแปรรูป (กลางนํ้า) การจำหน่าย (ปลายนํ้า) ด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงแก่ชุมชนและเกษตรกรจัดให้มีเวทีรับฟังปัญหา ความต้องการของเกษตรกร ชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุ วิเคราะห์ และหารือร่วมกันถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีการสร้างเกษตรกรผู้นำให้เป็นต้นแบบความสำเร็จที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ และประสานความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่โครงการฯ กับเกษตรกรรายอื่น กระทั่งสามารถนำนวัตกรรมจากงานวิจัยมาปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอารา
บิกาคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ โดยให้ผลผลิต สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ มูลค่ารวม 4.27 ล้านบาท ในปี 2556 และเพิ่มเป็น 46.43 ล้านบาท ในปี 2566 โดยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 205,442.47 บาท/ครัวเรือน/ปี จากเดิมเฉลี่ย 50,000 บาท/ครัวเรือน/ปี
รวมทั้งเกษตรกร 226 ราย จาก 13 หมู่บ้าน ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร เกิดความร่วมมือของภาคเอกชนในการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลา ได้แก่ มูลนิธิโครงการหลวง บริษัทกาแฟชาวไทยภูเขา บริษัท ปตท.นํ้ามันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัทบอนคาเฟ่ และผู้รับซื้อในท้องถิ่นเฉลี่ย 360–500 ตัน/ปี เกษตรกรได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ด้วยการฝึกอบรม ศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น หนุ่มสาวที่ออกไปทำงานนอกพื้นที่กลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรผลิตกาแฟอาราบิกา มีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด และกลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ
อีกทั้ง พื้นที่ได้รับการปรับระบบมาปลูกกาแฟอาราบิกาใต้ร่มเงาไม้ (Shade-Grown Coffee) รวม 2,771 ไร่ การผลิตภายใต้แนวคิด Zero Waste ทำให้เกษตรกรนำเปลือกกาแฟที่เหลือทิ้งไปผลิตปุ๋ยหมักแล้วนำกลับมาใช้ลดต้นทุนการผลิตได้มากถึง 25 ตัน/ปี ชุมชนมีบ่อบำบัดนํ้าเสียจากการสีแปรรูปกาแฟ จำนวน 22 บ่อ 77 ครัวเรือน สามารถบำบัดนํ้าเสียก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ เฉลี่ย 2,900,000 ลิตร/ปี มีเงินออมเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาท/ปี สำหรับใช้จ่ายในครัวเรือน มีการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกตามความเหมาะสมของพื้นที่ ได้เพิ่มพื้นป่าให้ชุมชนโดยรอบมากกว่า 1,300 ไร่ เกิดการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน