กรมวิชาการเกษตรขยายผลงานวิจัยพร้อมใช้ พืชพันธุ์ดีและเทคโนโลยีการผลิตพืช สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนิน การขยายผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์ด้านพืชพันธุ์ดีและเทคโนโลยีการผลิตพืชสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งปัจจุบันโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ ก็ยังคงได้รับการสืบสาน รักษา ต่อยอด จากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ก่อให้เกิดโครงการตามแนวพระราชดำริมากกว่า 100 โครงการ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 หน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรที่ได้ร่วมบูรณาการและสนองแนวพระราชดำริผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งของการดำเนินการขับเคลื่อนงานวิจัย คือ การขยายผลการผลิตพืชพันธุ์ดีและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของเกษตรในพื้นที่ อำเภอท่ายาง และ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยดำเนินงานภายใต้โครงการตามแนวพระราชดำริ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย และโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า พืชพันธุ์ดีและเทคโนโลยีการผลิตพืชนับเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตของเกษตรกร โดยพืชพันธุ์ดีที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชบุรีได้กระจายพันธุ์ดีสู่เกษตรกรโดยมีโครงการตามแนวพระราชดำริเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี มีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตต่อไร่ สูงกว่า 5.3 ตัน รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเนื้อกรอบ สีเนื้อเหลืองอมส้มสม่ำเสมอ สามารถแกะแยกผลย่อยหรือตาออกจากกันโดยง่าย และอ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 มีลักษณะเด่นคือให้ผลผลิตน้ำอ้อยต่อไร่สูง รสชาติดี มีกลิ่นหอม น้ำอ้อยมีสีสวย สามารถไว้ตอได้ดีไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปี

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ได้ขยายผลการผลิตสับปะรดพันธุ์เพชรบุรีพร้อมเทคโนโลยีการผลิตของกรมวิชาการเกษตร คือ การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวในสับปะรดตามคำแนะนำจะมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 7.7 ตัน ซึ่งหากมีการปลูกสับปะรดพันธุ์เพชรบุรีทดแทนพันธุ์ปัตตาเวียจะส่งผลให้เกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 10,674บาทต่อไร่ เมื่อคำนวนพื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์รวมกับจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่เพาะปลูกรวม194,000 ไร่ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 2,071 ล้านบาท

สำหรับอ้อย ได้ดำเนินการขยายผลการผลิตอ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 โดยใช้เทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์แมลงหางหนีบขาวงแหวนในการควบคุมแมลงศัตรูพืช และการปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันกำจัดโรคใบขาวอ้อย ซึ่งการปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวจะมีผลผลิตน้ำอ้อยต่อไร่สูงถึง 5,960 ลิตรส่งผลให้เกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง7,420บาทต่อไร่ เมื่อคำนวณพื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 33,300 ไร่ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 247 ล้านบาท ปัจจุบันมีเกษตรกรที่รับเทคโนโลยีดังกล่าวไปปรับใช้และสามารถจัดทำเป็นแปลงขยายผลเทคโนโลยีได้อีก 17 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรผู้ผลิตสับปะรด 12 ราย และเกษตรกรผู้ผลิตอ้อยคั้นน้ำ 5 ราย

“ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรีได้ถ่ายทอดความรู้และขยายผลให้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ในโครงการตามแนวพระราชดำริให้เกษตรกรสามารรถนำมาปรับใช้ในการผลิตของตนเองได้ อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน พร้อมกับวางแผนการขับเคลื่อนต่อยอดผลงานในอนาคตเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในการผลิตพืช รวมถึงการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยังยืนให้เกษตรกร จากผลความสำเร็จดังกล่าวทำให้ โครงการขยายผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์ด้านพืชพันธุ์ดีและเทคโนโลยีการผลิตพืชสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ได้รับรางวัลโครงการพิเศษดีเด่นประจำปี 2566 ด้วย”อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated