ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวรายงาน มีคณะผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วม ณ ห้องประชุมธารทิพย์ 01 ชั้น 4 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทานสามเสน พร้อมนี้ ได้เปิดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ Application Zoom และทาง Facebook Live กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ รวมกว่า 7,300 คน ตลอดจนสื่อมวลชนรับฟังอย่างทั่วถึง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความสำคัญอย่างมากในการดูแลพี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ให้อยู่ดีมีสุข มีรายได้อย่างมั่นคง ภาคเกษตรไทย จะต้องแข็งแกร่ง มีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าเกษตรต่างประเทศ โดยมีนโยบายและงานหลักสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประการแรก คือ การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตร ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงเมื่อวันที่ 11 – 12 กันยายน 2566 ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายและงานสำคัญที่จะเร่งผลักดันดำเนินการในประเด็นต่างๆ โดยเน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ ได้แก่ 1) การจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนภาคการเกษตร โดยเป็นศูนย์บริการร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้สามารถติดต่อสอบถาม ขอทราบข้อมูล และรับเรื่องร้องเรียน คลายทุกข์ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ณ ศูนย์บริการร่วมเพียงแห่งเดียว2) สร้างครอบครัวเกษตร บูรณาการงานเข้มแข็ง เน้นการทำงานของทุกคนทุกหน่วยงาน ต้องทำงานเป็น Team Work ให้มีศักยภาพเพื่อการทำงานระบบทีม มีประสิทธิภาพ มุ่งมั่น ร่วมแรงร่วมใจบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ3) ขับเคลื่อนภารกิจ ยกระดับ MR. สินค้าเกษตร โดยฟื้นฟู ยกระดับการทำงานของ MR. สินค้าเกษตร อีกครั้ง สินค้าเกษตรทุกชนิดต้องมีผู้รับผิดชอบ เน้นทำงานเชิงรุก สร้างกลไกการทำงานร่วมกันในทุกสินค้า แก้ปัญหาถูกจุด ทั้งด้านสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ การลักลอบนำเข้าแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

พร้อมกันนี้ ได้เน้นให้มีการรับมือภัยธรรมชาติ จะต้องวางแผนมาตรการต่างๆ อย่างชัดเจน รับมือตั้งแต่การป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด พร้อมปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฏหมาย โดยถือเป็นการประกาศสงครามสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างจริงจัง เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ เข้มงวดในการตรวจสอบสต็อกในประเทศเพื่อควบคุมในการนำเข้า การกักตุน และเก็งกำไร โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ผลผลิตออกสู่ตลาด
นอกจากยังเน้นให้ ยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร ได้แก่ 1) ผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจหลักสำคัญ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรจำนวนมาก แต่ยังขาดการพัฒนาที่เหมาะสม เกษตรกรบางส่วนยังทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่จึงมีรายได้น้อย จึงเน้นแนวทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น 2) ส่งเสริมเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร (Agricultural Service Provider) โดยเกษตรกร สถาบันเกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของเครื่องมือ เครื่องจักรกลของตนเองพร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มประชากรภาคเกษตรยุคใหม่

ขณที่ การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG / Carbon Credit จะต้องทำการเกษตรที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม การกำจัดแมลงศัตรูพืช ที่ถูกต้อง การลดปริมาณปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง มีการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร ได้แก่ 1) พัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในนโยบายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน บริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน โดยจะเดินหน้าต่อยอด พัฒนาสร้างระบบประกันภัยให้แก่พี่น้องเกษตรกรไทย และ2) อำนวยความสะดวก สนับสนุนให้บริการเครื่องมือทางการเกษตร ที่ให้เกษตรกรสามารถเช่า/ยืม เครื่องมือเครื่องจักรกลด้านการเกษตรที่เหมาะสมต่อการการผลิต
“ผมมีความภาคภูมิใจ ที่ได้กลับมาทำงาน และรับใช้พี่น้องเกษตรกรอีกครั้ง ซึ่งแนวทางการทำงาน และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผมจะขับเคลื่อนและผลักดันนั้น จะไม่ใช่มีเพียงนโยบายที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอีกหลายนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่จะครอบคลุม เพื่อช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาพี่น้องเกษตรกร และพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งทุกนโยบายและทุกการทำงานจะเป็นไปอย่างจริงจัง เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน และต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจทำงานอย่างบูรณาการทีมเวิร์ค แบบครอบครัวไปด้วยกัน เพื่อพี่น้องเกษตรกรกินดี อยู่ดี มีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน และภาคเกษตรไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
ด้าน นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายนั้นครบถ้วนทุกประการ การทำงานของพวกเราทุกคนคงสบายใจที่เราถึงแม้จะมาจากต่างพรรค แต่พวกเราก็มีเป้าหมายเดียวกัน จะทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ มีเป้าหมายในการให้บริการประชาชนให้ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าปราศจากฟันเฟืองในการขับเคลื่อนของกระทรวงก็จะไม่สามารถบรรลุได้ จึงขอให้ทุกท่านทำงานร่วมกันด้วยความสบายใจ


นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมาย ซึ่งนับว่าเป็นนโยบายที่ดี ครอบคลุม สนองงานนโยบายรัฐบาล สำหรับนโยบายการทำงานแบบบูรณาการในหน่วยงานให้เป็นครอบครัวเกษตรนั้น ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ ที่จะขับเคลื่อนพัฒนาภาคเกษตรให้พี่น้องเกษตรกรมีชีวิคความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นทั้งนี้ ยินดีที่จะได้ร่วมงานกัน สนองงานนโยบายรัฐบาล และขอขอบคุณทุกท่านไว้ล่วงหน้าที่จะร่วมมือกับขับเคลื่อนงายไปสู่เป้าหมาย