ธ.ก.ส. จับมือ สอน. เชื่อมโยงฐานข้อมูล พร้อมเติมทุนเสริมสภาพคล่องผู้ปลูกอ้อย
ธ.ก.ส. จับมือ สอน. เชื่อมโยงฐานข้อมูล พร้อมเติมทุนเสริมสภาพคล่องผู้ปลูกอ้อย

ธ.ก.ส. จับมือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เชื่อมโยงฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย พร้อมเติมทุนระยะสั้นเสริมสภาพคล่องเกษตรกรภายใต้มาตรการ BCG Model วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อจูงใจให้เกษตรกรร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ปลูกอ้อยที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั่วประเทศ

นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร โดยนำฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและฐานข้อมูลการจำหน่ายอ้อยให้แก่โรงงานน้ำตาล มาดำเนินการตรวจสอบข้อมูลสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการสินเชื่อและการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกอ้อยกับ สอน. และ อยู่ระหว่างการรอคิวรถตัดอ้อย โดยมีการรับรองจากโรงงานน้ำตาลคู่สัญญา มีการวางแผนการลดการเผาอ้อยและสามารถตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลคู่สัญญาได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมเติมเงินทุนผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นภายใต้มาตรการ BCG Model ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ผ่านสินเชื่อ BCG Model วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy Credit) 2) สินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Credit) และ 3) สินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาตัดอ้อยสดส่งจำหน่ายโรงงานน้ำตาล ทดแทนการเผาอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว อันเป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและการดำเนินชีวิตของประชาชน อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.975) ต่อปี และเมื่อเกษตรกรสามารถดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด จะได้รับการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็น MRR-1 ต่อปี นับแต่วันกู้เงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรและเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการประกอบอาชีพต่อไป

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านการผลิต การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ใน การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่เพาะปลูกอ้อย เช่น การสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อย ปรับพื้นที่รองรับรถตัดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวอ้อย การส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยที่มีความพร้อมจัดซื้อเครื่องอัดใบอ้อย (Square Balers) ส่งขายให้กับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ สำหรับนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมกระบวนการผลิตน้ำตาลและผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล เพื่อเพิ่มรายได้และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืนอีกด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated