มช.

ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศ ทั้งยังคว้า 2 รางวัล รองชนะเลิศอันดับสองและอันดับสามตามมาติด ๆ จากเวทีประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศ ครั้งที่ 11 จัดโดยวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีให้มีการพัฒนาและต่อยอดขึ้นอย่างชัดเจน และยังสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจ และความสนใจด้านนาโนเทคโนโลยี

ในการแข่งขันครั้งนี้ ทีมวิจัย มช. ได้รับรางวัลในประเภทอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป นำทีมโดย ศ.ดร.พรชัย ราชตนะพันธุ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่ง 3 งานวิจัยที่คว้ารางวัลจากเวทีนี้ ได้แก่ รางวัลที่ 1 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทาน “ถ้วยรางวัลชนะเลิศ” ในเรื่อง Frabication of Metal Oxide Nanoparticle Coayed Poly(Vinyl Chloride) Films by Sparking Process for Use as Ethylene Absorber คือ การผลิตแผ่นฟิล์มจากวัสดุไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) ร่วมกับอนุภาคนาโนโลหะออกไซด์ที่เคลือบบนวัสดุพอลิเมอร์ด้วยกระบวนการสปาร์ค (Sparking Process) เพื่อให้มีคุณสมบัติจำเพาะในการดูดซับเอทิลีน ซึ่งเป็นแก๊สไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลเล็กที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติระหว่างการสุกของผลไม้และยังเป็นตัวกระตุ้นการหายใจของผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว โดยอาศัยกลไกของวัสดุในการดูดซับและเปลี่ยนเอทิลีนให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และน้ำ (H2O) ภายใต้กระบวนการเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง (Photocatalytic reaction) ภายใต้แสงที่มองเห็นได้ (Visible light) เพื่อช่วยลดปริมาณเอทิลีน อีกทั้งยังสามารถชะลอการสุกและเพิ่มระยะเวลาการเก็บรักษาของผลไม้ให้นานขึ้นได้

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง  ในเรื่อง “NanoPlas Paper” Water Repellent with Plasma Coatin โดยกระดาษคราฟ (Kraft paper) เป็นวัดสุที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความแข็งแรง ทนต่อแรงฉีกขาด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้กระดาษคราฟนิยมผลิตเป็นกระดาษลูกฟูกได้เพื่อใช้ในการขนส่ง ขณะเดียวกันพบว่า กระดาษคราฟมักมีปัญหาด้านความแข็งแรงเมื่อได้รับความชื้น ส่งผลเสียต่อคุณภาพสินค้าที่บรรจุอยู่ภายใน ดังนั้นการเคลือบวัสดุประเภทพอลิเมอร์หรือไขมันจึงเป็นแนวทางในการเพิ่มความทนทานและกันน้ำของกระดาษคราฟ ซึ่งวิธีเหล่านี้ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น ในงานวิจัยนี้จึงมีแนวคิดในการปรับปรุงพื้นผิวของกระดาษคราฟ โดยการเคลือบผิวด้วยพลาสมาจากซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ (SF6)  ทำให้ได้กระดาษคราฟที่มีความแข็งแรงในเชิงพื้นผิวและที่สำคัญมีสมบัติที่ไม่ชอบน้ำ ทนต่อความชื้น เรียกว่า “กระดาษนาโนพลาส” สามารถใช้ทำเป็นตัวบรรจุภัณฑ์ในการเก็บรักษาคุณภาพของสินค้าและผลิตผลทางการเกษตร ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญผลิตจากเทคโนโลยีสะอาดจากเทคโนโลยีพลาสมา

และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ในเรื่อง Synthesis and Characterization of alpha Chitosan and beta Chitosan for Antimicrobial Application and Shelf-Life Extension of Banana Fruit ไคโตซานเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่ได้จากเปลือกแข็งของกุ้ง กระดองปู ซึ่งมีคุณสมบัติในการชะลอการเน่าเสียของผลผลิตทางการเกษตร โดยมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราด้วยกรรมวิธีที่ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีข้อจำกัด ที่ไม่สามารถทำละลายได้ในน้ำ ทำให้มีความหลากหลายในการนำไปใช้งานลดลง

งานวิจัยนี้จึงมีแนวคิดในการพัฒนาการเตรียมสารสกัดไคโตซานจากไคตินให้อยู่ในรูปแบบของนาโนไคโตซาน ชนิดแอลฟาและเบต้า ที่ได้จากจากทั้งเปลือกกุ้งและแกนปลาหมึกขนาด 30-80 นาโนเมตร เพื่อให้สามารถละลายน้ำได้และนำไปประยุกต์ใช้ในการเคลือบผิวของของผลผลิตทางการเกษตร

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated