กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม นำวัสดุจากมะพร้าวทำหลากหลายผลิตภัณฑ์ทั้งเครื่องจักสาน เครื่องนวดเพื่อสุขภาพ ซุ้มประดับเวที สร้างงาน สร้างรายได้ สู่ความยั่งยืน และลดขยะ ตามหลัก Zero Waste
มะพร้าว ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวสมุทรสงคราม มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 60,000 ไร่ ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตน้ำมะพร้าวและมะพร้าวผลสดที่มีคุณภาพและรสชาติอร่อย เนื่องจากเป็นแหล่งพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่สามน้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ปลูกมะพร้าวในตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม มีบางช่วงที่ราคามะพร้าวตกต่ำ เนื่องจากปัญหากลไกการตลาด และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะการเก็บเกี่ยว ที่ต้องว่าจ้างแรงงานจำนวนมาก เช่น ค่าแรงงานสอยมะพร้าว ค่าเก็บมะพร้าว และค่าโยนมะพร้าว รวมไปถึงค่าปุ๋ยและค่าโกยดินทำความสะอาดสวน นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดการต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และการตลาดที่ยังไม่หลากหลาย ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในตำบลบางคนที และพื้นที่โดยรวมของจังหวัด
ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และสำนักงานเกษตรอำเภอบางคนที รวมไปถึงองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางคนที จึงเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวมกลุ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่มะพร้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในด้านการลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ให้องค์ความรู้ในการดูแลรักษาสวน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักทดแทนปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง การเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และการเพิ่มช่องทางการตลาดให้มากขึ้น
นายบรรจงศิลป์ วุฒิอุทัย เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวถึงการเข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ตามนโยบายแปลงใหญ่ว่า แปลงใหญ่ในจังหวัดสมุทรสงครามมีทั้งหมด 27 แปลง ในช่วง 3 ปีแรก หลังรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะสนับสนุนงบประมาณมาพัฒนา 5 ด้าน ประกอบด้วย การลดต้นทุน การเพิ่มปริมาณผลผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิต การบริหารจัดการแปลง และการเชื่อมโยงการตลาด โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานเกษตรอำเภอบางคนที และเจ้าหน้าที่จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) คอยเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรในด้านต่าง ๆ เช่น ให้ความรู้ในการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน แนะนำการผลิตและการใช้ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การใช้น้ำหมักชีวภาพในการบำรุงพืชและปรับสภาพดิน และการใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืช
นอกจากนี้สมาชิกแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางคนที ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 80,000 บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการจัดหาปัจจัยการผลิต เช่นแม่ปุ๋ย และวัตถุดิบผสมปุ๋ย เพื่อนำมาผสมเป็นปุ๋ยไว้ในใช้ในแปลงใหญ่ตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อไม่ให้เกิดการสิ้นเปลืองในการใช้ปุ๋ย พร้อมกับจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ในการแปรรูปมะพร้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบไว้จำหน่าย เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายกลับมาเป็นทุนหมุนเวียนในแปลงใหญ่ต่อไป
ส่วนการสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลผลิต เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์นั้นนายบรรจงศิลป์ กล่าวว่า ตำบลบางคนทีและยายแพง มีมะพร้าวเป็นหลัก ทั้งมะพร้าวแก่ และมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งมะพร้าวน้ำหอม จะขายเป็นลูกที่หน้าสวน ปัจจุบันขายได้ราคาดี ใช้เวลาประมาณ 20-25 วันต่อการเก็บผลผลิต 1 ครั้ง ส่วนมะพร้าวแก่จะใช้เวลาถึง 45 วัน ถึงจะเก็บขายได้ ทำให้เกิดต้นทุนในการดูแลรักษามากขึ้น ดังนั้นจึงสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น กะลามะพร้าว นำไปทำเป็นเครื่องมือนวดเพื่อสุขภาพ ส่วนก้านมะพร้าวสด นำไปทำเครื่องจักสานตกแต่งเป็นซุ้มเวทีตามงานต่าง ๆ รวมทั้งสานหมวก สานตะกร้า และไม้กวาด เปลือกมะพร้าวนำไปต้มทำสีเป็นผ้ามัดย้อม แล้วนำไปจำหน่ายในช่องทางต่าง ๆ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว
ด้าน นายดำรงค์ ธีระพิบูลย์ ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางคนที กล่าวว่า แปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางคนที ปัจจุบันมีสมาชิก 53 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 500 ไร่ ที่ผ่านทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และสำนักงานเกษตรอำเภอบางคนที มีส่วนในการสนับสนุนให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การให้คำแนะนำในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก และทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง แนะนำให้มีการผสมปุ๋ยใหม่เพื่อให้เหมาะกับสภาพดินของแต่ละแปลง โดยให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต และนำผลผลิตเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือใช้เศษวัสดุจากมะพร้าวนำไปสู่การสร้างรายได้ เช่น นำก้านมะพร้าวสานทำเป็นหมวก ตะกร้า และไม้กวาด นอกจากนี้ยังทำเป็นเครื่องจักสานตกแต่งเวทีตามงานต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีงานจ้างเข้ามาตลอด
ส่วนกะลามะพร้าว นำไปทำเป็นเครื่องมือนวดเพื่อสุขภาพ เปลือกมะพร้าวทำเป็นกระถางต้นไม้ และใช้เปลือกนำไปต้มทำเป็นผ้ามัดย้อม โดยมีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในปี 2566 นี้ เพื่อทำเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และให้เกิดช่องทางการตลาดที่หลากหลาย ปัจจุบันผลผลิตของกลุ่มนอกจากขายมะพร้าวผลสดตามหน้าสวนแล้ว สินค้าแปรรูปหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้น ยังวางจำหน่ายตามงานต่าง ๆ ของส่วนราชการหรือเอกชนที่จัดขึ้น พร้อมวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และมีการใช้ช่องทางออนไลน์เข้าช่วย
“การแปรรูปทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดขยะในชุมชน หรือเป็นไปตามหลัก Zero Waste ในการหยิบใช้วัสดุจากมะพร้าวทุกส่วนให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่า ล่าสุดทางสมาชิกแปลงใหญ่ได้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำผ้าหนังกบ ด้วยการนำเปลือกมะพร้าวแก่และเปลือกมะพร้าวอ่อน มาเคี่ยวกับฝางหลายชั่วโมง จากนั้นนำผ้ามาย้อม และต้องใช้เวลาย้อมกว่า 1 สัปดาห์ จึงจะได้ผ้า 1 ผืน ถือเป็นงานประณีต และยังส่งเสริมการฝึกอาชีพให้คนพิการด้วย ถือเป็นการหยิบใช้วัสดุจากมะพร้าวในทุกส่วนนำมาสร้างเป็นเม็ดเงินให้เกิดขึ้นกับสมาชิกทุกคน”
ส่วนโครงการสวนหลังบ้าน ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางคนที กล่าวว่า เกิดจากความคิดว่าการมีพืชหรือผลไม้ที่หลากหลายในแปลงเดียวกันเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เจ้าของสวนมีผลไม้หรือพืชผักที่หลากหลายไว้จำหน่ายและรับประทาน ไม่ใช่เฉพาะมะพร้าวเพียงอย่างเดียว โดยการนำเงินทุนหมุนเวียนของสมาชิกจัดหาต้นพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มาจำหน่ายและบางส่วนแจกให้กับสมาชิก เพื่อนำไปปลูกในแปลงของตัวเอง เช่น มังคุด ลองกอง มะม่วง และพืชผักอื่น ๆ โดยโครงการสวนหลังบ้านได้รับการตอบรับที่ดีจากสมาชิก และจะมีการขยายผลสู่แปลงใหญ่แปลงอื่นในอนาคต พร้อมเชื่อมั่นว่าหากเกษตรกร ส่วนใหญ่ดำเนินการตามแนวทางแปลงใหญ่ จะทำให้เกษตรกรประสบผลสำเร็จ และเกิดความยั่งยืนทางด้านคุณภาพชีวิตและรายได้ที่มั่นคงในอนาคต