กรมพัฒนาที่ดิน ขานรับนโยบาย “รมว.ธรรมนัส” ยกระดับสินค้าเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ด้วยการเสริมศักยภาพเกษตรกร ผลักดัน และเสริมสร้างทรัพยากรดินที่มีลักษณะเด่นไปสู่การเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) และพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย
นายปราโมทย์ ยาใจ
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินโครงการการประเมินสถานภาพทรัพยากรดินในพื้นที่เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตร โดยทำการศึกษาลักษณะและสมบัติบางประการของดิน รวมถึงประเมินสถานภาพทรัพยากรดินในพื้นที่ปลูก พืชอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลทรัพยากรดินและแนวทางการจัดการดินในพื้นที่ปลูกพืชบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (พืช GI) รายชนิดพืช ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบสถานภาพทรัพยากรดินในพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีและ บ่งชี้สถานะของดินที่มีการปลูกพืชให้มีคุณภาพดี อีกทั้งนำไปใช้เป็นคำแนะนำการจัดการดินในพื้นที่ปลูกพืช GI เพื่อให้เกษตรกร เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรดินในบริเวณที่มีลักษณะโดดเด่น เพื่อผลักดัน เสริมสร้าง และคุ้มครองให้เป็นปัจจัยสำคัญต่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พืชท้องถิ่น และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีคุณภาพดี
นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุตามเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อย : สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ในการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืช GI การสนับสนุนฐานข้อมูล การผลิตสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (พืช GI) ให้ได้มาตรฐานเพื่อคุ้มครองทรัพยากรดินที่เหมาะสมสำหรับพืช GI โดยจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ (พืช GI) ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ แผนที่ชุดดิน แผนที่สภาพการใช้ที่ดิน ความเหมาะสมของที่ดิน ในขอบเขตพื้นที่เพาะปลูกพืช GI ของประเทศไทย จำนวน 48 ชนิด เช่น ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา ลิ้นจี่นครพนม ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น
“ฐานข้อมูลสารสนเทศพืชบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (พืช GI) และสถานการณ์ของทรัพยากรดินในพื้นที่เพาะปลูกพืช GI ถูกนำมาวิเคราะห์และประเมินคุณภาพที่ดินทั้งระดับความต้องการปัจจัยของพืช GI และสภาพภูมิอากาศ เพื่อจัดชั้นความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืช GI ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดทำเขตการใช้ที่ดินสำหรับพืช GI ในการขยายพื้นที่เพาะปลูก พร้อมทั้งจัดทำเขตเหมาะสมมากสำหรับปลูกพืช GI และเขตเหมาะสมมากสำหรับขยายพื้นที่ปลูกพืช GI ด้วย โดยได้ดำเนินการแล้วจำนวน 6 ชนิดพืช ได้แก่ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ หอมแดงศรีสะเกษ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ สับปะรดท่าอุเทน ลิ้นจี่นครพนม ในพื้นที่จังหวัดนครพนม และ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขยายผลแผนพัฒนาพืช GI ในอนาคตแบบบูรณาการ ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และผู้สนใจสามารถนำฐานข้อมูลสารสนเทศพืช GI ของกรมพัฒนาที่ดินไปวิจัยต่อยอด หรือใช้ประโยชน์สำหรับกำหนดแผนงานและนโยบายการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวทิ้งท้าย