ธ.ก.ส. จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรและนำเกษตรกรหัวขบวน ศึกษาดูงานการยกระดับมาตรฐานและมูลค่าสินค้าเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2566 โดยเน้นขบวนการส่งเสริม Local consumption ในท้องถิ่น ถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้คู่กับการท่องเที่ยว
การศึกษาดูงานเริ่มต้นขึ้น ที่ Kyoho Wine โรงกลั่นไวน์เก่าแก่ในเมืองคุรุเมะ ที่เริ่มปลูกองุ่น เคียวโฮแห่งแรกและสามารถผลิตองุ่นเคียวโฮที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น มีการรวบรวมผลผลิตที่มีคุณภาพจากเกษตรกรในพื้นที่ เช่น ผลไม้ตามฤดูกาล มาแปรรูปเป็นไวน์ผลไม้ชั้นดี โดยในโอกาสนี้ เกษตรกรหัวขบวนได้ศึกษาและเยี่ยมชมประวัติความเป็นมา กระบวนการผลิตไวน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บไวน์ และเทคนิคในการสร้างแบรนด์
จุดเด่นของโรงกลั่นไวน์แห่งนี้ก็คือ ตั้งอยู่กลางป่าในเขตชุมชนที่แวดล้อมด้วยพื้นที่ทำการเกษตรที่เป็นสวนผลไม้หลากหลายชนิด โดยนำเอาผลผลิตผลไม้ที่รวบรวมจากเกษตรกรมาแปรรูปเป็นไวน์หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะองุ่น KYOHO ที่ขึ้นชื่อ ซึ่งชุมชนแห่งนี้จะนำมาปลูกแห่งแรก ทางผู้บริหารโรงงานได้พาไปเยี่ยมชมโรงบ่มไวน์ และได้ชิมไวน์แต่ละชนิด ซึ่งจะมีร้านค้าเอาไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว “เราคือตัวแทนของเกษตรกรในชุมชน ถ้าไม่มีเกษตรกรเราก็อยู่ไม่ได้” คือคำพูดหนึ่งของผู้บริหารโรงกลั่นไวน์ระหว่างนำเยี่ยมชม
นอกจากนั้นยังได้เยี่ยมชม Michi No Eki ถนนที่จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นในเมืองคุรุเมะ ซึ่งมีการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ด้วยการออกแบบมาสคอตประจำเมืองคือ Kurappa เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวและเป็นการประชาสัมพันธ์สัญลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชม Yufuin Goemon ที่ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตขนมจำหน่ายในเมืองยูฟุอิน ได้แก่ ชีสเค้ก โรลเค้กและเบเกอรี่ ซึ่งมีการคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดี เพื่อให้ลูกค้าได้รับประทานขนมที่อร่อยและปลอดภัย โดยเกษตรกรได้เรียนรู้ในเรื่องของการสร้างความแตกต่างของแต่ละไลน์ผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย การจัดวางสินค้าในแต่ละสาขา และการบริหารช่องทางการตลาดจนแบรนด์ Goemon ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ เกษตรกรหัวขบวนสามารถนำไอเดียไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน รวมถึงการวางแผนการตลาดให้เป็นที่รู้จักในตลาดอย่างกว้างขวาง
“ทางหน่วยงานท้องถิ่นเขาจะส่งเสริมการแปรรูป อย่างเช่นท้องถิ่นของเรามีมะนาวเยอะ มีปลูกเชอร์รี่ และมันหวานมาก เราก็จะนำเอาผลผลิตเหล่านั้นมาอยู่ในขนม ซึ่งแต่ละหมู่บ้านแต่ละชุมชนเราจะทำขนมไม่เหมือนกัน และสิ่งสำคัญเราต้องสร้างแบรนด์” คุณจอย ผู้บริหารร้าน Goemon ซึ่งเป็นคนไทยและสามีของเธอเป็นเจ้าของร้านเล่าให้ฟัง (รายละเอียดดูเพิ่มเติมได้จากคลิป https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/638477821819381)
วันที่สอง เยี่ยมชมการดำเนินงาน China on the Park และ Arita Porcelein Park ที่มีการดำเนินธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่น โดยได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกที่มีความละเอียดและประณีตในศูนย์หัตถกรรม การจัดแสดงสินค้าในแกลเลอรีเพื่อการตลาด จนถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก
จากนั้นได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกในสมัยแรกที่ก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงปัจจุบันซึ่งในแต่ละยุคสมัยลายเส้นก็จะมีความแตกต่างกัน อาทิ แจกัน เหยือก จาน ถ้วย และชาม เป็นต้น เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาต่อยอดและพัฒนาธุรกิจของเกษตรกรหัวขบวนให้มีศักยภาพมากขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์และสร้างโอกาสในการก้าวไปสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ณ Arita City ประเทศญี่ปุ่น
“จุดเปลี่ยนของเรามาจากการเข้าประกวดแจกันเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน ได้รางวัลชนะเลิศที่ฝรั่งเศส จากนั้นเราก็มาพัฒนาต่อยอดให้มีเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นเครื่องใช้ในบ้านเรือนหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแจกัน ถ้วยโถโอชาม โดยแต่ละยุคแต่ละสมัยจะมีลวดลายที่แตกต่างกัน” ผู้บริหารของ CHINA ON THE PARK กล่าว
ในวันที่สาม ไฮไลท์ก็คือ เยี่ยมชมการทำนาแบบขั้นบันไดที่ Hamanoura Rice Terraces โดยได้เยี่ยมชมวิธีการและขั้นตอนในการทำนาแบบญี่ปุ่น การบริหารต้นทุนในการผลิต แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงการยกระดับสถานที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อให้เกษตรกรหัวขบวนสามารถนำไอเดียที่ได้จากการศึกษาดูงานมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองและขยายผลไปยังชุมชน
การทำนาข้าวแบบขั้นบันได้นับเป็นอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นก็ว่าได้ แต่ที่ต้องมาดูนาข้าวแห่งนี้ก็เพราะ ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่สวยงามติดอันดับ 1 ใน 100 ของญี่ปุ่นจากการจัดอันดับล่าสุด เพราะมองทอดสายตาออกไปจะเห็นว่าด้านหัวปลายนาตั้งอยู่ติดทะเลสีคราม ตัดกับสีเขียวของนาข้าว แต่เสียดายว่าช่วงที่ไปดูได้เก็บเกี่ยวข้าวไปหมดแล้ว แต่ชาวนา 2 คน กับฝ่ายต้อนรับของหมู่บ้านได้ให้ข้อมูลว่า ถ้าช่วงไหนที่ไม่มีนาข้าวเราก็จะติดตั้งแสงสีในยามค่ำคืน อีกทั้งมีการจุดพลุในนักท่องเที่ยวชม และวันที่มาเยี่ยมชมได้นำภาพรวมทั้งสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เก็บไว้นำมาให้ดูชม
“หมู่บ้านของเราต้องคิดตลอดว่า เราจะเป็นตัวแทนของเมืองได้อย่างไรให้นักท่องเที่ยวมาชมแล้วประทับใจกลับไป ช่วงไหนไม่มีนาข้าวเราจะนำเสนออะไรได้บ้าง อย่างในภาพนี้เป็นนาข้าวตอนกลางคืน เราจัดแสดงแสงสีอย่างเต็มที่ในช่วงเทศกาล ส่วนภาพนี้ก็เป็นปฏิทินของเมืองจะมีรูปนาข้าวของเราอยู่ในเดือนนี้..และภาพนี้ก็เป็นดาราที่มาช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวนาข้าวของเรา..ทั้งหมดนี้เราได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในท้องถิ่น แม้แต่การทำหัวคันนาเขาก็ทำให้เมื่อหลายสิบปีก่อนก็ยังใช้งานได้อยู่..การทำนาของเราไม่ค่อยได้กำไรในระยะหลังๆมานี้ เพราะว่าปัจจัยการผลิตแพงขึ้น เราต้องไปปลูกส้มเป็นรายได้เสริม และก็นับว่ายังโชคดีที่มีการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นเรื่องหลักเป็นผลพลอยได้ของหมู่บ้านของชุมชนของเรา” คือเสียงจากชาวนาทั้ง 2 คน และเจ้าหน้าที่ที่มาต้องนรับบอกอย่างตรงไปตรงมา ก่อนที่จะพาไปชมโรงสีในหมู่บ้าน ซึ่งข้าวที่ปลูกในนาขั้นบันได้จะมีรสชาติอร่อยและขายได้ราคาดีกว่าข้าวจากนาทั่วไป
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวระหว่างที่มาเยี่ยมชมการทำนาแบบขั้นบันได ว่า ธ.ก.ส.ได้พาเกษตรกลุ่มที่เป็นลูกค้าจากประเทศไทย หรือที่เรียกว่า เกษตรกรหัวขบวนมาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยกลุ่มที่มาดูงานนี้ทำธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ ธ.ก.ส.ได้พามาดูอยู่ญี่ปุ่น เช่น การแปรรูปผลผลิตเป็นไวน์ การทำเครื่องปั้นดินเผา การสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และแนวคิดในการทำแพ็กเกจจิ้ง รวมถึงการทำนาแบบขั้นบันได
“นับเป็นครั้งแรกที่เราพาเกษตรกรมาลงพื้นที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการพาเกษตรกรมาในครั้งนี้ เราต้องการให้เกษตรกรของเราได้มาเห็นของจริง ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรของญี่ปุ่น ว่ามีแนวคิดอย่างไร มีการบริหารจัดการอย่างไร เพราะการบอกเล่าหรือดูวีดิทัศน์ เกษตรกรของเราจะไม่เข้าใจเท่ากับการมาสัมผัสด้วยตัวเอง”
ชมLIVEสด การทำนาแบบขั้นบันไดของญี่ปุ่น https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/829387172314261
นายฉัตรชัยกล่าวอีกว่า ต้องการเน้นย้ำให้เกษตรกรเห็นการเกษตรมูลค่าสูง เพราะเกษตรกรของประเทศญี่ปุ่นมักจะผลิตผลผลิตต่าง ๆ ไม่มาก ทำพอประมาณแต่มูลค่ากลับสูงมาก ในขณะที่ทรัพยากรของประเทศญี่ปุ่นมีอยู่อย่างจำกัดและเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศไทย ยกตัวอย่างการดูงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผา ที่มีอยู่ไม่กี่ 10 คน แต่สามารถผสมผสานแบ่งเวลามาทำจากการทำเกษตรปกติได้ นับเป็นการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้ ที่สำคัญคือสินค้าพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ตรงตามความต้องการของลูกค้า
และสิ่งหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนในภาคอุตสาหกรรมที่ ธ.ก.ส.ได้พามาดูในครั้งนี้ของประเทศญี่ปุ่น คือ เกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ทำเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่วางแผนไปด้วยว่าจะขายสินค้าให้กับใคร จะพัฒนาสินค้าไปแบบไหน ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาจะตอบสนองต่อผู้บริโภคอย่างไร สอดคล้องกับสิ่งที่ ธ.ก.ส.กำลังส่งเสริมคือ Local consumption หรือการบริโภคในท้องถิ่นอยู่ในเมืองเมืองนั้น และเสริมเรื่องเกษตรท่องเที่ยวไปด้วย ซึ่งเป็นที่มาของคำพูดที่ว่ากันคือ เกษตรกรญี่ปุ่นรวย และได้เห็นว่ารวยอย่างไร
ปิดท้าย นายฉัตรชัย กล่าวว่าในโอกาสต่อไปจะนำตัวแทนเกษตรกรมาศึกษาดูงานในประเทศญี่ปุ่นอีก “เพื่อให้เกษตรกรหัวขบวนสามารถนำไอเดียที่ได้จากการศึกษาดูงานมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองและขยายผลไปยังชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรนำไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจและมีรายได้อย่างยั่งยืน”