นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและเพิ่มพูนองค์ความรู้ ทักษะด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้กับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่สำคัญ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล ว่าด้วยการเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่าใน 4 ปี ภายใต้กลยุทธ์ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ผลักดันสู่โครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง จึงได้จัดกิจกรรมสัมมนาสร้างความเข้าใจโครงการ/การพัฒนาความรู้และศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไม้ผลขึ้น ระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมดีวารี จอมเทียน บีท พัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นเวทีในการเพิ่มศักยภาพกระบวนการทำงานให้นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เติมเต็มองค์ความรู้และแนวคิดในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานส่งเสริมไม้ผลอัตลักษณ์และการบริหารจัดการผลไม้ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรจากใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการเพิ่มมูลผลผลิตหรือการแปรรูปเพิ่มมูลค่า การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดผลไม้อัตลักษณ์ ที่มีความโดดเด่น ในเรื่องรสชาติ คุณภาพ มีเรื่องราว (Story) และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สามารถพัฒนายกระดับเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไม้ผลอัตลักษณ์ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การจัดกิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยให้นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่สามารถเก็บเกี่ยวความรู้จากทางวิทยากรได้รับแนวความคิดและเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์จากการศึกษาดูงาน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ของตัวเองได้ ตลอดจนพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายส่งเสริมให้นักวิชาการเกษตรและเกษตรกรคัดเลือกพืชในพื้นที่มาส่งเสริมเป็นผลไม้อัตลักษณ์ ผ่านโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 เน้นการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าด้วยมาตรฐานการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รวมทั้งพัฒนาความรู้และเพิ่มศักยภาพ โดยกระบวนการทำงานในพื้นที่ในการพัฒนาสินค้าไม้ผลตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 5 กิจกรรม ได้แก่ พัฒนาความรู้เจ้าหน้าที่ พัฒนาเกษตรกร พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่ม การบริหารงานตามยุทธศาสตร์ผลไม้ และบริหารจัดการโครงการ ทั้งนี้ งานส่งเสริมการผลิตไม้ผลเป็นงานสำคัญงานหนึ่งของกรมส่งเสริมการเกษตร มีความท้าทายทั้งเรื่องความยากของงานและความเร่งด่วนของระยะเวลาปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานไม้ผล จึงต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน คือ รู้และแม่นยำในการทำข้อมูล ในขณะเดียวกันก็ต้องผสานความคิดสร้างสรรค์ลงไปในงานที่รับผิดชอบได้อย่างลงตัว