กรมชลประทาน เตรียมยกเครื่องโครงการส่งน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเฮ!!

กรมชลประทาน จัดประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชลประทานกว่า 306,963 ไร่

(เกษตรก้าวไกล LIVE ถ่ายทอดสดการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ https://fb.watch/p1ZTG8eGsF/)

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เริ่มโครงการศึกษาความเหมาะสม “การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์” ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2565 หลังจากคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) มีมติเห็นชอบให้พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยคํานึงถึงความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและความต้องการใช้น้ำในอนาคต เพราะปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงต้นฤดูทํานาปีและในช่วงฤดูแล้ง ส่วนฤดูฝนมีปัญหาน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมที่ราบลุ่มริมลำน้ำ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว มีความจุกักเก็บ 1,980 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทาน 306,963 ไร่ ครอบคลุมบางส่วนของ อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ และ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ทั้งนี้ การศึกษาโครงการฯ จะมีการประเมินสถานภาพ และแนวทางการปรับปรุงเพื่อบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ)นี้ ได้มีการสรุปผลการศึกษาให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มาปรับปรุงรายงานฉบับสุดท้ายให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ในส่วนของแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ ประกอบด้วย การปรับปรุงพื้นที่โครงการชลประทาน 4 ส่วน ได้แก่ 1) การปรับปรุงพื้นที่หัวงานเขื่อนลำปาว 2) การปรับปรุงระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย (LMC) 3) การปรับปรุงระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวา (RMC) และ 4) พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่

นายสุรชาติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงระบบชลประทานเขื่อนลำปาว จะช่วยให้การส่งน้ำมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถส่งน้ำได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ในฤดูฝน 306,963 ไร่ และ ในฤดูแล้ง 207,100 ไร่ รวมทั้งพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่อีกประมาณ 8,350 ไร่ ขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทานให้สามารถใช้น้ำได้คุ้มค่า ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถกักเก็บน้ำและระบายน้ำบรรเทาอุทกภัยได้ ตั้งแต่พื้นที่ในเขตโครงการฯไปจนถึงบริเวณลำปาวที่บรรจบกับแม่น้ำชี ส่วนอ่างเก็บน้ำก็ใช้เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ รวมทั้งใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และใช้ในการผลิตประปา ตลอดจนอุตสาหกรรมขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ได้

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า มีโครงการที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทาน ได้ในอนาคตอีกประมาณ 109,000 ไร่ หากมีปริมาณน้ำจากภายนอกลุ่มน้ำ ผันมาเติมให้กับเขื่อนลำปาว อาทิ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ พื้นที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำ พื้นที่ อ.ยางตลาด และ อ.ห้วยเม็ก และโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบึงเลิงเปือย พื้นที่ อ.กมลาไสย และ อ.ร่องคํา

นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะประธานในพิธีเปิดปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีเขื่อนลำปาวที่เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ แต่การใช้น้ำยังไม่ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อนที่ยังประสบปัญหาการจากแคลนน้ำ ไม่สามารถนำน้ำจากเขื่อนลำปาวไปใช้ได้ เมื่อน้ำในเขื่อนเยอะ ต้องปล่อยลงไปด้านล่าง ทำให้ประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อนใช้น้ำได้ไม่เต็มที่ หากมีการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานเกิดขึ้น จะทำให้เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้ดีมีประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

“หวังว่าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวที่จะเกิดขึ้นจะเข้ามาแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำได้ครบวงจรเพื่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรจะได้มีน้ำอย่างพอเพียงตลอดทั้งปี”

เช่นเดียวกับ นายอนันต์ ภูมูลนา ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามโนนภักดี  ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วเลี้ยงกุ้งก้ามกรามส่งไปจำหน่ายในพื้นที่ในจังหวัดภาคอีสานทั้งหมด จุดเด่นของกุ้งจากเขื่อนลำปาวคือ คุณภาพดี ทั้งนี้เป็นเพราะเขื่อนลำปาวเป็นเขื่อนที่มีน้ำสะอาด รวมถึงคุณภาพของดินที่มีลักษณะพิเศษ ทำให้กุ้งที่นี่มีความอร่อย เนื้อแน่น ถูกใจผู้บริโภค แต่ด้วยสภาพปัญหาคือ แหล่งเลี้ยงกุุ้งอยู่เหนือเขื่อนทำให้น้ำมีไม่เพียงพอ จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนสถานีสูบน้ำเพิ่ม ที่จะช่วยให้กลุ่มคนเลี้ยงกุ้งได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย

ทางด้าน นายเดช โขลา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านโนนภักดี ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม กล่าวว่า อาชีพการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเกิดขึ้นจากการมีเขื่อนลำปาว จากเดิมมีอาชีพทำนาประสบปัญหาหนี้สินและน้ำไม่พอใช้ แต่เมื่อเกิดอาชีพเลี้ยงกุ้งและเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นๆ ทั้งปลานิลและปลาทับทิมทำให้มีมีรายได้ดีขึ้น และเศรษฐกิจในชุมชนก็ดีขึ้น เนื่องจากเกิดการท่องเที่ยว เกิดร้านอาหารที่เสิร์ฟเมนูกุ้งก้ามกราม และเกิดพ่อค้ามารับซื้อกุ้งก้ามกรามถึงปากบ่อ จากเดิมขายข้าวไม่สามารถกำหนดราคาได้ แต่กุ้งก้ามกรามเรากำหนดราคาได้ พอตกลงราคากันก็เป็นหน้าที่ขอพ่อค้าที่มาจับกุ้งเอง

“พอเลี้ยงกุ้งคนเขาก็เรียกเสี่ยเดชจากเดิมเรียกนายเดชหรือเรียกชื่อเฉยๆ ก็เห็นได้ชัดว่าเลี้ยงกุ้งทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้นมาก แต่ปัญหาของเราก็มีเหมือนกัน คือนำต้องมีพอเพียง ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเดือนละหน กว่าจะขายได้ต้องใช้เวลา 5 เดือน และเวลากรมชลประทานจะปล่อยน้ำต้องบอกล่วงหน้า ไม่งั้นพอน้ำใหม่เข้ามาก็จะเกิดปัญหากับกุ้งที่เลี้ยงได้ ซึ่งทราบว่ากรมชลประทานจะเข้ามายกเครื่องเรื่องการบริหารจัดการให้มีการส่งน้ำและบำรุงรักษาให้ครบวงจรมากขึ้นก็เห็นด้วยเป็นอย่างมาก” นายเดช โขลา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated