นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรที่มีความชำนาญในการเก็บเกี่ยวผลกาแฟ ทำให้เกิดการเก็บผลกาแฟอ่อนปะปนกับผลกาแฟสุกที่มีคุณภาพดี ส่งผลให้กาแฟที่ได้มีคุณภาพต่ำและไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เนื่องจากเมล็ดกาแฟที่ได้จากผลกาแฟระยะต่างๆ มีกรดอินทรีย์ที่มีผลต่อกลิ่น รส และความรู้สึกในการชิมหลังคั่วบดแล้วแตกต่างกัน โดยเมล็ดกาแฟที่ได้จากผลกาแฟที่สุกแดงจะมีปริมาณกรดอินทรีย์ที่มีผลต่อกลิ่นรสที่ดีเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค
จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลกาแฟที่มีความชำนาญดังกล่าว กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ดำเนินการวิจัย พัฒนาต่อยอด ออกแบบและคิดค้นจนได้แผ่นเทียบสีสำหรับใช้ประเมินความสุกแก่ผลกาแฟที่จะเก็บเกี่ยวจากแปลง โดยเป็นเครื่องมือที่สามารถปฏิบัติได้ง่าย และสะดวกต่อการใช้งานของเกษตรกรและแรงงานรับจ้างเก็บเกี่ยวผลกาแฟจากแปลง ช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการเก็บกาแฟได้อย่างถูกต้องทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
นางสาวอารีรัตน์ การุณสถิตย์ชัย นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กล่าวว่า แผ่นเทียบสีสำหรับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟ มีลักษณะเป็นกระดาษแข็งเคลือบพลาสติกด้านที่มีสีสันแตกต่างกัน แต่ละสีจะแสดงถึงระดับความสุกแก่ของผลกาแฟ โดยแผ่นเทียบสีกาแฟนี้จะเป็นต้นแบบจากงานวิจัยสามารถนำแถบไปทาบกับผลกาแฟกลางผลซึ่งเป็นส่วนที่แสดงถึงการสุกได้ชัดเจนที่สุดโดยเบอร์ 1 เป็นผลที่ยังไม่สุก (สีชมพู) เบอร์ 2 สุกแล้ว (สีแดง) ส่วนเบอร์ 3 สุกมากเกินไป (สีแดงเข้ม) วิธีการใช้ให้นำแผ่นเทียบสีผลกาแฟวางด้านบนผลกาแฟที่ต้องการ โดยให้ช่องว่างของแผ่นเทียบสีตรงกับกลางผลกาแฟ เลื่อนหาช่องสีของแผ่นเทียบสีที่มีสีใกล้เคียงกับผลกาแฟที่ต้องการมากที่สุด ซึ่งถ้าเก็บเกี่ยวผลกาแฟที่มีความสุกแก่เหมาะสมในระยะที่ 2 (สีแดง) ปริมาณมากถึง 80% จะทำให้ราคาของผลผลิตเพิ่มมากขึ้นกิโลกรัมละ 5 บาท
ในอดีตเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมักใช้วิธีการเก็บเกี่ยวผลกาแฟด้วยมือ โดยสังเกตจากสีของเปลือกผลกาแฟซึ่งวิธีนี้อาจมีความคลาดเคลื่อนได้จากสภาพอากาศและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสีของเปลือกผลกาแฟ แผ่นเทียบสีสำหรับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟที่กรมวิชาการเกษตรผลิตขึ้นดังกล่าวได้รับการรับรองและ การยอมรับจากผู้มีความชำนาญในการเก็บเกี่ยวผลกาแฟและผู้ประกอบการกาแฟว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถประเมินความสุกแก่ของผลกาแฟและเก็บเกี่ยวผลกาแฟที่สุกเต็มที่ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อคุณภาพของกาแฟ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมายแล้วพบว่าเกษตรกร ผู้รับจ้างเก็บเกี่ยว และผู้ประกอบการ ให้การยอมรับเทคโนโลยีแผ่นเทียบสีดังกล่าว เนื่องจากสามารถจำแนกการสุกแก่ของผลกาแฟตั้งแต่ผลไม่สุก สุก และสุกเกินไปอย่างรวดเร็ว ง่าย และสะดวกต่อการใช้งาน ทำให้ผลงานวิจัย“แผ่นเทียบสีสำหรับการเก็บเกี่ยวผลกาแฟเชอร์รีในระยะที่เหมาะสม” ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ประเภทสิ่งประดิษฐ์คิดค้น จากกรมวิชาการเกษตร