นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา คือ ลิ้นจี่แม่ใจ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ชนิดพืช ที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการพัฒนาภายใต้โครงการพะเยาโมเดลสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิตสินค้าเกษตร และนำร่องเป็นต้นแบบในการผลิตสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดพะเยา สำหรับลิ้นจี่แม่ใจ กรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ยกระดับเกรดพรีเมี่ยมให้ได้ 50 % ยกระดับเกรด AA ให้ได้ 10 % ยกระดับเกรด A ให้ได้ 5 % และเพิ่มสัดส่วนช่องทางการตลาดสมัยใหม่ให้ได้ 95% โดยแบ่งเป็นโมเดิร์นเทรด 90% และสั่งจองล่วงหน้า (Pre Order) 5%
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในส่วนของกลยุทธ์การพัฒนา กรมส่งเสริมการเกษตรจะนำหลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเป็นแนวทาง โดยเน้นการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า การตรวจวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อให้เกิดการสังเคราะห์แสงและสร้างพลังงานที่สมบูรณ์ การตัดแต่งช่อดอกเพื่อให้จำนวนผลต่อช่อมีขนาดใหญ่ และมีจำนวนเหมาะสมกับพลังงาน ใช้เทคโนโลยีห่อผล (BCG) เพื่อป้องกันโรคและแมลง สีของผลผลิตสดสวย การพัฒนาระบบ รวบรวม คัดแยก ตัดแต่ง และการขนส่งที่ได้มาตรฐาน GMP การเพิ่มสัดส่วนช่องทางการตลาดสมัยใหม่ 95% การรักษาสัมพันธ์คู่ค้าเดิม เสริมคู่ค้าใหม่ โดยกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) และระบบซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งการจัดกิจกรรม Pre Order และประชาสัมพันธ์ซื้อลิ้นจี่คุณภาพพรีเมี่ยม และการอบรมสร้างทักษะการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพถึงมือผู้บริโภคและผู้บริโภคมีความพึงพอใจ
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการโครงการพะเยาโมเดลสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร โดยจะเริ่มดำเนินการนำร่อง ในสินค้าเกษตรสำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม 6 ชนิด ได้แก่ ลิ้นจี่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว สมุนไพร มันสำปะหลัง และกาแฟ มีพื้นที่ดำเนินการนำร่องใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ใจ และอำเภอดอกคำใต้ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็ง รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร การส่งเสริมการผลิตสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการผลิต เพื่อยกระดับการรับรองตามมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ส่งเสริมการใช้พืชพันธุ์ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยจัดทำเป็นพะเยาโมเดลสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร