ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตร โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งกำหนดแนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมาย โดยกำหนดนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างครอบคลุม ทั้งนโยบายพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเน้นโครงการพระราชดำริ นโยบายระยะสั้น ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ตลอดจนนโยบายระยะกลาง และ ระยะยาว เพื่อสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิต โดยมีผลการดำเนินงานในโครงการสำคัญ ระยะเวลา 99 วัน (ตั้งแต่ 1 กันยายน – 8 ธันวาคม 2566) ดังนี้
1. นโยบายพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนโครงการพระราชดำริ ในโครงการจัดงานมหกรรมเพื่อเฉลิม พระเกียรติฯ และจัดงานนิทรรศการหมุนเวียน ประชาชนได้รับความรู้ ไม่น้อยกว่า 3,000 ราย ดำเนินการเผยแพร่ แนวพระราชดำริและสร้างความตระหนักเรื่องดิน ผ่านกิจกรรม วันดินโลก ผู้ร่วมงานทั้ง Onsite และ Online ประมาณ 118,594 ราย จัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารแล้ว 11 จังหวัด เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าใช้บริการไม่น้อยกว่า 1,100 ราย (เป้าหมายทั้งปี 77 จังหวัด 7,700 ราย) พร้อมจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ถวายเป็นพระราชกุศล 13 ตุลาคม “วันนวมินทรมหาราช” จำนวน 700,000 ตัว ตลอดจนดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ (ธคก.) เกษตรกรได้รับการสนับสนุน โค-กระบือ จำนวน 2,120 ราย รวมโค-กระบือ จำนวน 2,368 ตัว คิดเป็นมูลค่า 66,348,000 บาท เกษตรกรได้รับมอบกรรมสิทธิ์ โค-กระบือ จำนวน 2,634 ราย โค-กระบือ จำนวน 3,517 ตัว คิดเป็นมูลค่า 71,928,850 บาท
2. นโยบายแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
เร่งเตรียมมาตรการรองรับภัยพิบัติ โรคระบาดพืช และสัตว์ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการน้ำในช่วงวิกฤติภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ 40,387 ล้านลูกบาศก์เมตร วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 21,810 ล้านลูกบาศก์เมตร (อุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรฤดูแล้ง อุตสาหกรรม) พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 5.8 ล้านไร่ สำรองน้ำต้นฤดูฝน 18,577 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มปริมาณฝนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร กระจายน้ำจากแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เกษตรกรพื้นที่สูงได้รับประโยชน์ 5,350 ราย พื้นที่ 8,142 ไร่ อำนวยการรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร จำนวน 4,539 ราย จำนวนเงินช่วยเหลือ 25.630 ล้านบาท ตลอดจนให้การสนับสนุนเสบียงสัตว์ หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 675,820 กิโลกรัม เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือ 6,675 ราย และสนับสนุนอาหารสัตว์ช่วยเหลือทั่วไป จำนวน 49,440 กิโลกรัม แก่เกษตรกร 949 ราย
ประกาศปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน ดำเนินการตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศ โดยบูรณาการร่วมกัน ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งหมด 107 จุด ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ สุรินทร์ สระแก้ว ตราด จันทบุรี ระยอง ระนอง กาญจนบุรี และสมุทรปราการ สำหรับการตรวจสอบห้องเย็นด้านปศุสัตว์ 2,437 แห่ง และด้านประมง 2,062 แห่ง มีการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 จำนวน 159 ครั้ง ของกลางซากสัตว์ 4,573.25 ตัน มูลค่าของกลาง 472.29 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) สินค้าปศุสัตว์ลักลอบนำเข้า 18 ครั้ง ของกลางซากสัตว์ 1,151.05 ตัน มูลค่าของกลาง 159.11 ล้านบาท (2) การกระทำผิดกฎหมายภายในประเทศ 141 ครั้ง ของกลางซากสัตว์ 3,422.20 ตัน มูลค่าของกลาง 313.18 ล้านบาท
ปราบปรามปัจจัยผลิตทางการเกษตรผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 34 ล้านบาท อาทิ ด่านท่าเรือกรุงเทพฯ การลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรผิดกฎหมาย จำนวน 208,000 ลิตร มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท จ.กาญจนบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและอายัดปุ๋ยผิดกฎหมาย (ปุ๋ยอินทรีย์ (ยางพารา) และปุ๋ยเคมี) จำนวน 614.75 ตัน มูลค่ากว่า 9 ล้านบาท และ จ.เชียงใหม่ จ.กาญจนบุรี และ กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ เข้าตรวจสอบและอายัดวัตถุอันตรายทางการเกษตรผิดกฎหมาย จำนวน 540.5 ลิตร และ 13.8 กิโลกรัม มูลค่า 554,300 บาท
ปราบปรามยางพาราผิดกฎหมาย 99 วัน ทำทันทีโดยอายัดยางพาราต้องสงสัยผ่านพรมแดน 104 ตัน มูลค่า 5 ล้านบาทโดยทีมเฉพาะกิจร่วมกับหน่วยความมั่นคง ได้อายัดยางพาราที่ต้องสงสัยผ่านพรมแดน จ.กาญจนบุรี จำนวน 29 ตันมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท และ จ.ระนอง จำนวน 75 ตัน มูลค่ากว่า 3.75 ล้านบาท ทำให้ราคายางพารา มีแนวโน้มสูงขึ้น สร้างความเชื่อมั่น และเสถียรภาพให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
รวมทั้งจัดตั้งทีมเฉพาะกิจพญานาคราชเพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายและร่วมสนับสนุนภารกิจของสารวัตรปศุสัตว์และสารวัตรประมง พร้อมจัดตั้งทีมสายลับยางจากเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ สอดส่องการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย จัดตั้งสารวัตรเกษตรไซเบอร์ ตรวจสอบ เฝ้าระวัง รับแจ้งเบาะแส และปราบปรามทางสื่อออนไลน์ การรวบรวมเอกสารเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรทำให้ได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และลดปัญหาการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย
สร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ จัดตั้งศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช 959 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อรับเรื่องราว ร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร เกษตรกรเข้ามาขอรับบริการจำนวน 2,566 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 1,798 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 462 เรื่อง
ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร โครงการยกระดับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าพืชด้วยระบบ GAP โดยตรวจสอบเพื่อรับรองมาตรฐาน GAP พืช ไม่น้อยกว่า 20,000 แปลง โครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) โดยตรวจรับรองร้านอาหาร Q Restaurant 8 ร้าน ยกระดับร้านอาหารระดับพรีเมี่ยม 4 ร้าน
3. นโยบายสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิต
การสร้างรายได้ภาคเกษตร ตามนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของรัฐบาล โดยมุ่งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/2567 จำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงิน 34,437 ล้านบาท เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ ได้รับประโยชน์ 610,000 ราย โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/2567 วงเงิน 481.25 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย/แปรรูป 1 ล้านตันข้าวเปลือก สถาบันเกษตรกรได้รับประโยชน์ 3.033 ล้านครัวเรือน โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพ ผลผลิตข้าว ปีการผลิต 2566/2567 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.68 ล้านครัวเรือน ได้รับการสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท/ครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
นอกจากนี้ ได้ผลักดันไหมอุตสาหกรรมรังเหลืองในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา สนับสนุนปัจจัยการผลิต 200 ราย เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 20,000 บาท/เดือน รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ นำนวัตกรรมมาใช้ในการปลูกถั่วเหลือง ทำให้ผลผลิตเพิ่มจากเดิม 395 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 492 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้น 2,500 บาท/ไร่ ตลอดจนแก้ไขปัญหาประมง โดยปรับปรุง แก้ไข และออกใหม่กฎหมายฉบับรอง 18 ฉบับ ทำให้การบังคับกฎหมายสอดคล้องกับบริบทการทำประมงและลดภาระให้กับชาวประมง ตลอดจนเพิ่มวันทำการประมงเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรสร้างรายได้เพิ่ม
การสร้างและขยายโอกาส บริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกร โดยประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2 ฉบับ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เพื่อยกระดับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร และมอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 9,820 ราย 11,060 แปลง เนื้อที่จำนวน 107,284 ไร่ สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดย รมว.กษ. กับผู้แทนระดับรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต และผู้นำภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่น จีน นอร์เวย์ มาเลเซีย และผู้แทน FAO
การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สนับสนุนการขายคาร์บอนเครดิต และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และบำบัดน้ำเสียเพื่อกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำ เกษตรกรมีปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการนำผักตบชวาหมักด้วยสารเร่ง พด.1 รวม 34,744 ตัน คิดเป็นมูลค่า 104.23 ล้านบาท ส่งเสริมการทำคาร์บอนเครดิต ในสวนยาง นำร่อง 45,000 ไร่ ใน จ.จันทบุรี จ.เลย และ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อขอยื่นรับรองมาตรฐาน T-VER
การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร เป็นตัวแทนรัฐบาลในการเจรจาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เจรจา 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มสมัชชาคนจน (สคจ.) 2) กลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน (สกอ.) และกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน (สพอ.) 3) กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และ 4) กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด จำนวน 66 จังหวัด และดำเนินโครงการตรวจประเมินการควบคุมภายในเพื่อป้องกันความเสี่ยงการทุจริตด้านดิจิทัลในสหกรณ์ เพื่อป้องปรามปัญหาการทุจริต ในสหกรณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สหกรณ์ภาคการเกษตรดำเนินการแล้ว 1,500 แห่ง
สำหรับงานสำคัญที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งดำเนินการในระยะต่อไป จะยังคงมุ่งเน้นตามนโยบายอย่างครอบคลุม อีกมากกว่า 30 โครงการ ประกอบด้วย นโยบายแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ เร่งเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งรวมถึงภัยพิบัติ ในโครงการประกันภัยภาคการเกษตร มุ่งสร้างรายได้ เสริมอาชีพระหว่างการพักหนี้ ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โครงการพัฒนาสมรรถนะและยกระดับความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกรและบุคลากร รวมทั้งส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ และสนับสนุน BCG Economy Model ด้วยโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรชีวภาพ โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โครงการส่งเสริมการจัดตั้งและบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรฐานชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการศึกษา แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรชีวภาพ ตลอดจนยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร ในโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร
นโยบายระยะกลาง และระยะยาว “สร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิต” ได้แก่
การสร้างรายได้ภาคเกษตร มุ่งลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยดำเนินโครงการสร้างผู้ประกอบการเพื่อให้บริการทางการเกษตรอัจฉริยะ โครงการยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (ASP) โครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมง โครงการศูนย์แสดงสินค้าผลิตภัณฑ์เกษตรคุณภาพสูง โครงการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรเมืองร้อนมูลค่าสูง สู่ตลาดโลก รวมถึงส่งเสริมการบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ ด้วยโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ โครงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ โครงการส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ในสถาบันเกษตรกร โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว โครงการผลิตอาหารสัตว์ โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร และโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบการผลิตเกษตรแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ อาทิ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น โครงการโคบาลไทย โครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โครงการผลิตสินค้าเกษตรทดแทนการนำเข้า รวมทั้งเน้นการวิจัย พัฒนาพันธุ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร ด้วยโครงการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และแมลงศัตรูธรรมชาติทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ตลอดจนหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตสินค้าเกษตร โดยดำเนินโครงการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรและอาหาร โครงการส่งเสริมการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรเชื่อมโยงตลาด ในประเทศและต่างประเทศ และโครงการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น
การสร้างและขยายโอกาส ให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน โดยยกระดับ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า รวมถึงยกระดับห้องปฏิบัติการเพื่อให้บริการและตอบสนองต่องานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี บริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ในโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน นอกจากนี้ ยังเน้นส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน โดยโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตร โครงการปุ๋ยอินทรีย์ธาตุอาหารสูง ตลอดจนสนับสนุนการขายคาร์บอนเครดิต และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทุกหน่วยงานจะยังคงเดินหน้าและบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตรไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องเกษตรกร ให้กินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภาคเกษตรเติบโต เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี ด้วย 6 นโยบายสำคัญ ของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ 1) การสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ 2) การรับมือภัยธรรมชาติ 3) การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย 4) การยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร 5) การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร และ 6) การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร
ขอบคุณสื่อมวลชนหลังการแถลงข่าว เกษตร99วันทำได้จริง
“ตามที่รัฐมนตรีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 3 คน ตลอดจนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ได้ทำงานภายใต้รัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นระยะเวลา 99 วัน มีผลงานการแก้ปัญหาพี่น้องเกษตรกรที่ทำได้จริง ได้แก่ การแจกที่ดิน ส.ป.ก. การปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ในการบรรเทาเหตุน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงช่วยเหลือพี่น้องประมงให้ทำมาหากินได้อย่างสบายใจ ส่วนของขวัญที่กระทรวงเกษตรฯ จะมอบให้แก่เกษตรกรในปี 2567 ได้แก่ 1) การแก้ไขกฎหมายฉบับรองด้านประมงทั้ง 19 ฉบับ โดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีการขยายการประมงให้ครบ 290 วัน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง 2) การเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร โดยในวันที่ 15 มกราคม 2567 จะมีการมอบโฉนดฉบับแรกโดยนายกรัฐมนตรี 3) การปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน เพื่อให้สินค้าภาคการเกษตรขยับราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ จะนำนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ มาต่อยอดและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว