ทีมนักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย ดร.นครินทร์ สุวรรณราช ดร.จตุรงค์ คำหล้า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สายสมร ลำยอง และ Dr. Soumitra Paloi (นักวิจัยหลังปริญญาเอก) ร่วมกับ Prof. Dr. Samantha C. Karunarathna นักวิจัยจาก Qujing Normal University ประเทศจีน ร่วมกันศึกษาวิจัยในหัวข้อ Taxonomic and phylogenetic evidence reveal two new Russula species (Russulaceae, Russulales) from northern Thailand
ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาเห็ดสกุล Russula ที่เป็นเห็ดเอกโตไมคอร์ไรซากับพืชวงศ์ยาง ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพื้นที่ปกปักทรัพยากรโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “หริภุญไชย” ตำบลศรีบัวบาน จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเห็ดที่รับประทานได้ และมีการใช้เป็นอาหารจากป่ามาอย่างยาวนาน แต่ไม่มีการระบุชนิดทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง
โดยทีมวิจัยได้มีความสนใจศึกษาตัวอย่างเห็ดด้วยหลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ โดยการศึกษาสัณฐานวิทยาอย่างละเอียดระดับเซลล์ ด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง และภาพวาดโครงสร้างเซลล์เพื่ออธิบายประกอบ ร่วมกับการใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยาด้วยดีเอ็นเอ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีนในส่วนของ RNA polymerase II gene (RPB2) และลำดับยีน internal transcribed spacer (ITS) รวมถึง large subunit (LSU) เพื่อใช้ศึกษาแผนภูมิวิวัฒนาการของเห็ดสกุล Russula
จากข้อมูลสัณฐานวิทยา และข้อมูลชีววิทยาระดับโมเลกุลดีเอ็นเอด้วยการวิเคราะห์สร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ พบว่าเห็ดทั้ง 2 ตัวอย่างที่ศึกษาเป็นเห็ดชนิดใหม่ของโลก ที่พบในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือเห็ดหล่มหลังขาว (เห็ดไคหลังขาว) “Russula pseudomodesta” พบใน มช. ฝั่งสวนสัก และเห็ดหล่มหลังเขียว (เห็ดไคหลังเขียว) “Russula sribuabanensis” (ตั้งชื่อชนิดใหม่โดยใช้ชื่อสถานที่พบ คือตำบลศรีบัวบาน) พบในพื้นที่ปกปักทรัพยากรโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดใหม่ เป็นเห็ดที่รับประทานได้ มีกลิ่นหอมเฉพาะ และมีฤทธิ์ทางยา สามารถยืนยันสมมติฐานการใช้หลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ที่มีความถูกต้องและแม่นยำมากกว่าอนุกรมวิธานสมัยเก่าด้วยการเทียบเฉพาะรูปวิธาน อีกทั้งยังเป็นข้อมูลฐานชีวภาพของเห็ดประเทศไทย และแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ศึกษา รวมถึงการนำเห็ดชนิดนี้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนจากป่า และสร้างรายได้จากเห็ดป่าสองชนิดนี้ที่มีราคากิโลกรัมละ 150 – 200 บาท ในฤดูฝน ของคนในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนับสนุนให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน งานวิจัยนี้สอดคล้องกับ SDG 1 เห็ดป่าสร้างรายได้ขจัดความยากจน SDG 2 การใช้ประโยชน์เห็ดเป็นอาหาร พื้นที่ป่ามีความมั่นคงทางอาหาร มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ SDG 15 สนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืนโดยไม่ทำลายแหล่งกำเนิดเห็ดป่า จัดการป่าไม้อย่างครบวงจร เนื่องจากเป็นเห็ดเอกโตไมคอร์ไรซาไม้วงศ์ยางในป่าเต็งรัง ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์ของพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่