เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุมรวยปราสาท อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ นายไชยา พรหมา รัฐนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหารือดำเนินการเปิดจุดรวมสินค้าปศุสัตว์ เพื่อการส่งออก ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม มี นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) นายสันทัด แสนทอง รอง ผวจ.สุรินทร์ นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การหารือตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน มุ่งเน้นเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรและ เสริมสร้างศักยภาพเกษตรกร โดยหลักการ ”ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้“
นายสัตวแพทย์อภิชัย นาคีสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาจุดรวมสินค้าปศุสัตว์ เพื่อการส่งออก ณ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ที่ จ.สุรินทร์ สามารถจะช่วยให้การส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้น เนื่องจาก ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศบริเวณนี้ มีจุดเด่นในทุกด้าน เพราะศักยภาพพื้นที่รวมถึงส่วนราชการมีความพร้อม การพัฒนาศักยภาพการผลิตปศุสัตว์พื้นที่มีความพร้อม อีกทั้งจำนวนประชากรโคเนื้อก็มีมากที่สุดในประเทศไทย มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อเข้มแข็ง มีการพัฒนาเนื้อโควากิวที่มีคุณภาพตรงตลาดพรีเมี่ยม มีโรงฆ่าสัตว์ ที่ผ่านสามารถรองรับการผลิต นอกจากนี้สินค้าทางการเกษตรอื่ย ยังถือเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ (รำข้าวหอมมะลิสุรินทร์ GI) มีตลาดนัดโค-กระบือ 4 แห่ง ที่เป็นแหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนกันภายในจังหวัดและต่างจังหวัด อีกทั้งคนจังหวัดสุรินทร์ ก็มีทักษะภาษาเขมรถิ่นไทยที่สามารถสื่อสารกับภาษาเขมรของชาวกัมพูชาได้
‘ไชยา’ ดัน “สุรินทร์โมเดล” สอดรับนโยบาย “นายกเศรษฐา” ในการเปิดตลาดโคมีชีวิต ผลักดันศูนย์กักกันสัตว์เพื่อการส่งออกด่านช่องจอมเป็นศูนย์ปศุสัตว์
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านเกษตรกรรม ”ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้“ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นนโยบายที่เร่งแก้ไขปัญหา อุปสรรค เพื่อให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี โดยยึดหลัก ”ผลิตให้พอ ดูแลให้ดี พัฒนาให้มีคุณภาพ“ จึงเห็นได้ว่าในสภาผู้แทนราษฎร ตนได้รับการร้องเรียนว่าสินค้าทางการเกษตรตกต่ำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นโค-กระบือ – หมู รวมถึงสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะ โค-กระบือ-หมู เกษตรกรประสบปัญหาด้านราคาที่ตกต่ำ ความจำเป็นจึงขึ้นอยู่กับการเปิดตลาดใหม่ที่จะสามารถพัฒนาได้ โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ ที่อยู่ติดกับประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ยังสอดรับนโยบาย “นายกเศรษฐา” ในการเปิดตลาดโคมีชีวิต ไปประเทศจีนตะวันออกกลาง และประเทศเวียดนาม
“แนวทางการเปิดตลาดหรือศูนย์กักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้เริ่มกำหนด พื้นที่ เป้าหมาย ในหลายจังหวัดที่ติดชายแดน ไม่ว่าจะเป็น จ.เชียงราย จ.สุรินทร์ จ.มุกดาหาร จ.สระแก้ว จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือ จ.เพชรบุรี ที่กำลังดำเนินการพิจารณาตามความเหมาะสม นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้จับมือกับกระทรวงพาณิชย์ฯ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล การทำงาน กระทรวงพาณิชย์ จะมีหน้าที่ในการเปิดตลาดการค้าเพื่อจัดหาโควต้าเพื่อการส่งออก ส่วนกระทรวงเกษตรฯ จะมีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นเป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นตลาดเพื่อการส่งออกให้ได้ โดยจะนำสินค้าเกษตรทุกชนิด ไม่ว่าจะด้านพืช สัตว์ ประมง ผ่านกระบวนรับรองมาตรฐานการผลิต จึงขอให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่จ.สุรินทร์ ได้ช่วยกันวางแผนรวมกัน และควรที่จะนำเอาภาคเอกชนเข้าร่วม ซึ่งในขณะนี้ทราบว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หารือผ่านทูตพาณิชย์ประสานกับประเทศกัมพูชา”
สำหรับ จ.สุรินทร์ เป็นจังหวัดติดชายแดนประเทศกัมพูชา มีการซื้อขายส่งออก โดยเฉพาะโคเนื้อเป็นอันดับหนึ่งในประเทศ และสัตว์ที่สำคัญได้แก่ โคเนื้อ และไก่พื้นเมือง ในภาพรวม โคเนื้อ ปี 2566 โคพื้นเมือง มีจำนวน 332,527 ตัว โคลูกผสม 264,012 ตัว โคพันธุ์แท้ 6,854 ตัว และ โคขุน 2,563 ตัว รวม 605,956 ตัว รวมมูลค่า 6,673,500 บาท ,ส่วน ไก่ ในปี 2566 ไก่พื้นเมือง 4,452,144 ตัว ไก่ผสม 33,846 ตัว ไก่เนื้อ 565,221 ตัว และไก่ไข่ 223,865 ตัว ซึ่งในปี 2566 จ.สุรินทร์ ส่งโคเพศผู้ผ่านด่านกักกันสัตว์ (ด่านช่องจอม) จำนวน 305 ตัว ส่วนไก่พื้นเมือง 981,240 ตัวและไก่ไข่ปลดระวาง 400 ตัว รวมมูลค่า 82,786,960 บาท
“ด้านแผนการวางระบบเพื่อการส่งขายโคเนื้อมีชีวิต ผ่านตลาดกลางสินค้า ด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ หากมีการตลาดนี้ในอนาคต แบ่งแยกออกเป็น 2 ขั้นตอนเพื่อให้คู่ค้ามีความมั่นใจในคุณภาพที่ปลอดโรค โดยโคกระบือ ฟาร์มทั่วไป เมื่อนำสัตว์เข้ามาในพื้นที่ จะมีการเตรียมสัตว์เพื่อเข้ากักกันโรค จำนวน 45 วัน จากนั้นจะย้ายเข้าพื้นที่ปลอดโรคและกักในฟาร์มปลอดโรค 30 วัน จากนั้นก็เคลื่อนย้ายออกจากต่างประเทศ และในขั้นตอนที่ 2 เมื่อฟาร์มที่ได้รับรองสถานกักกันสัตว์เพื่อการส่งออกหรือฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ก็จะนำสัตว์เข้ามาในพื้นที่ปลอดโรคและกักในฟาร์มปลอดโรค และกักกันในฟาร์มปลอดโรคอีก 30 วัน จึงจะเคลื่อยย้ายออกไปจำหน่ายต่อในประเทศและต่างประเทศ ที่เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัย”