กรมส่งเสริมการเกษตร ชวนบริโภค “มะยงชิด มะปรางหวาน” ผลไม้อัตลักษณ์ขึ้นชื่อนครนายก ชี้ปีนี้ผลผลิตน้อย กระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมปีนี้ เป็นช่วงที่มะยงชิดและมะปรางหวานของจังหวัดนครนายกให้ผลผลิตออกสู่ตลาด จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคช่วยกันอุดหนุนผลผลิตจากเกษตรกรที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ หรือสามารถสั่งผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกนำสินค้ามาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานระดับจังหวัดและกำกับด้วยคณะกรรมการระดับประเทศ สำหรับคาดการณ์ปริมาณผลผลิตมะยงชิดในปีนี้ จำนวน 640 ตัน ส่วนมะปรางหวานคาดการณ์ปริมาณผลผลิต จำนวน 98 ตัน ลงลดจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 75 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝนตกในช่วงที่มะยงชิดและมะปรางหวานติดดอก และสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อน ทำให้ราคาจำหน่ายในปีนี้ขยับสูงขึ้นจากปีแล้ว โดยมะยงชิดราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 – 350 บาท (ปี 2566 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 – 250 บาท) และมะปรางหวานราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 – 200 บาท (ปี 2566 ราคาเฉลี่ย 80 – 150 บาท)

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้สามารถใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถพัฒนายกระดับเพื่อเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาตั้งแต่ปี 2562 ผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยมีหน่วยงานในพื้นที่ คือ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายกและสำนักงานเกษตรอำเภอ ลงพื้นที่ไปส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรในการผลิต มะยงชิด มะปรางหวาน ที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภค ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มในการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ การผลิตต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามที่กำหนด รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีการขออนุญาตขึ้นทะเบียน GI เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้าทั้งสองประเภทให้ได้มาตรฐาน และยังช่วยป้องกันการปลอมปนและแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ GI ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่นให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร Smart Farmer / Young Smart Farmer นำผลผลิตมะยงชิด มะปรางหวาน มาแปรรูปและใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่น ๆ เช่น น้ำมะยงชิด มะยงชิดลอยแก้ว แยมมะยงชิด มะยงชิดอบแห้ง ซอสมะยงชิด กล้วยอบมะยงชิด หมี่กรอบมะยงชิด เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จังหวัดนครนายกมีลักษณะทางภูมิศาสตร์และสภาพภูมิอากาศเหมาะกับการทำเกษตร จึงส่งผลทำให้ผลผลิตมะยงชิดและมะปรางหวานของจังหวัดนครนายก มีคุณภาพดี และมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น และได้รับ GI มะยงชิด และ มะปรางหวาน เมื่อปี 2559 ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ของจังหวัดนครนายก รวม 478 ราย แยกเป็นมะยงชิด 349 ราย และมะปรางหวาน 129 ราย ด้านพื้นที่ปลูกมะยงชิดและมะปรางหวาน ประมาณ 9,762 ไร่ ในเขต 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา และอำเภอปากพลี มีเกษตรกร 2,593 ราย และกลุ่มแปลงใหญ่มะยงชิด จำนวน 7 แปลง พื้นที่ 1,359 ไร่ สมาชิก 294 ราย โดยจะให้ผลผลิตช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี

สำหรับข้อสังเกตของมะยงชิดกับมะปรางหวาน ของจังหวัดนครนายกนั้น มะยงชิดจะมีลักษณะผลใหญ่ รูปทรงไข่ ผลสุกสีเหลืองส้ม เนื้อหนา เนื้อแน่น เมล็ดลีบ รสชาติหวานอมเปรี้ยว หอม กรอบ ค่าความหวาน 18-22 องศาบริกซ์ พันธุ์ที่นิยมปลูกในพื้นที่เป็นพันธุ์ทูลเกล้า พันธุ์บางขุนนนท์ พันธุ์ท่าด่าน พันธุ์ชิดสาริกา พันธุ์ทูลถวาย และพันธุ์ชิดสง่า ส่วนมะปรางหวานจะมีลักษณะผลใหญ่ รูปทรงยาวรี ปลายเรียวแหลม รสชาติหวาน หอม กรอบ ไม่ระคายคอ ความหวานอยู่ในช่วง 16-19 องศาบริกซ์ พันธุ์ที่นิยมปลูกในพื้นที่เป็นพันธุ์ทองใหญ่ พันธุ์ทองนพรัตน์ พันธุ์ท่าอิฐ และพันธุ์แม่อนงค

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated