ธ.ก.ส.หนุนผลิตไวน์เมล่อน “ฟูราโนะฟาร์ม” ส่งอดีตสาวโรงงานสู่อินเตอร์

เรื่องโดย : จตุพล ยอดวงศ์พะเนา

ทีมงานเกษตรก้าวไกล ได้ออกเดินทางตามคำแนะนำของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปที่บ้านสวนเมล่อน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หรือ “ฟูราโนะ ฟาร์ม” ของ คุณปคุณา บุญก่อเกื้อ หรือ “คุณแก้ว” ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ young smart farmer ที่ผันชีวิตจากสาวโรงงาน จ.ระยอง มาทำเกษตร จนสามารถสร้างเครือข่ายและชุมชนอย่างเข้มแข็ง

คุณแก้ว เล่าว่า จุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาปลูกเมล่อน มาจากแรงบันดาลใจที่ว่า หลังจากสามีเดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและซื้อเมล่อน กลับมาฝากลูกละ 3,000 บาท เห็นว่ารสชาติอร่อย รับประทานแล้วติดใจ จึงคิดที่จะปลูกเมล่อนปลอดสาร เพื่อคนอื่นจะได้ลิ้มรสเหมือนตัวเอง เริ่มจากเงินทุน 3,000 บาท สร้างโรงเรือนด้วยไม้ไผ่ ใช้มุ้งและพลาสติกคลุม และซื้อเมล่อนมาปลูกเพียง 30 ต้น เมื่อผลผลิตออกมาก็แจกจ่ายให้คนอื่นชิม มีเสียงตอบรับและชื่นชอบในรสชาติ

คุณแก้ว ทดลองโพสเฟซบุ๊คขาย มีคนสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง และติดใจในรสชาติ จนต้องขยายโรงเรือนเพิ่มเป็น 10 โรงเรือน และตัดสินใจใจที่จะทำเกษตรอย่างจริงจัง จึงยื่นจดหมายลาออกจากสาวโรงงานในบัดดล…

คุณแก้ว เริ่มแสวงหาความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ เริ่มตั้งแต่การปลูกการสร้างโรงเรือน การป้องกันแมลง ทดลองทำทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประหยัดทั้งแรงงานและเวลาในการดูแล ใช้แอปพลิเคชั่นในการควบคุมน้ำ อุณหภูมิในโรงเรือน และแสงอาทิตย์ จนเมล่อนเจริญเติบโตได้คุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด แถมรสชาติอร่อยด้วยคุณสมบัติของดินที่ิ อ.บ้านโพธิ์

วันเวลาผ่านพ้นไป คุณแก้ว มองเห็นว่าประสบความสำเร็จดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น เพราะรายได้เฉลี่ย 1 โรงเรือนให้ผลผลิตมากถึง 30,000 บาท โดย 1 โรงเรือนให้ผลผลิต 300 ลูก ส่งขายลูกละ 100 บาท เป็นวิธีทำเกษตรแบบทำน้อยแต่ได้มาก

ต่อมาจึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น สหกรณ์ผู้ปลูกผักปลอดภัยสูงฉะเชิงเทรา จำกัด มีสมาชิก 106 คน สหกรณ์รวบรวมผลผลิตของสมาชิก ส่งขายให้กับห้างท็อปซุปเปอร์มาเก็ต 5 สาขา ใน จ.ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี สั่งเมล่อนสัปดาห์ล่ะ 500 ลูก ส่งครัวการบินไทยสัปดาห์ละ 600 ลูก และบริษัทพัทยาพาร์ค บีช ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงแรมในจ.ชลบุรี สั่งไปสัปดาห์ละ 200 ถึง 300 ลูก

นอกจากนี้ยังเปิดรับนักท่องเที่ยวเชิงเกษตร หลังจากเมล่อนติดตลาด สามารถดึงนักท่องเที่ยวทั้งในกทม.และจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาท่องเที่ยวและเลือกซื้อสินค้าของดีแปดริ้ว ที่นำมาวางจำหน่ายในสวน โดยเริ่มเปิดเป็นร้านค้า ร้านกาแฟ มีสินค้าจากเพื่อนๆ ในเครือข่ายมาวางจำหน่าย แลกเปลี่ยนกันไปมา

“ใครอยากจะเรียนรู้เรื่องการปลูกเมล่อน สามารถมาเรียนรู้ได้ที่นี่ การที่จะปลูกเมล่อนให้ได้ผลดีต้องปรับปรุงดินให้ดีก่อน เราจะได้เมล่อนส่งไปขายตลาด รสชาติหวานอร่อย ถูกใจลูกค้า ส่วนลูกที่ไม่ได้ขนาดเราก็จะนำมาแปรรูปทำเป็นไวน์ เราจะไม่ทิ้งเลย เมล่อนทุกลูกสามารถสร้างมูลค่าได้ วัตถุดิบมาจากธรรมชาติ ทุกลูกจึงมีมูลค่า” คุณแก้ว กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ก่อนจะพาลุงพรไปดูโรงงานผลิตไวนฺ์ที่ตั้งอยู่ติดกัน ซึ่งเดิมทีก็คือโรงเรือนปลูกเมล่อนนั่นเอง

สำหรับโรงงานผลิตไวน์ ถือเป็นโรงงานไวน์ชุมชนขนาดย่อม เป็นการเพิ่มมูลค่าของเมล่อน เป็นเกษตรมูลค่าสูง โดยได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้และทุนสนับสนุน โรงงานของคุณแก้ว แม้จะไม่ใหญ่โตแต่ก็ถือได้ว่าเป็นโรงงานทันสมัยได้มาตรฐาน น้ำไวน์จะไม่สัมผัสมือผู้ผลิตเลย ไวน์ทุกขวดได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตร เสียอากรแสตมป์ถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้ยังได้แรงงานคุณลุง คุณป้า เป็นญาติพี่น้องในหมู่บ้านเดียวกันมาช่วยผลิตไวน์ สร้างไวน์รสชาติอร่อย หลากหลายรส รวมๆ อายุคุณลุง คุณป้า เกินห้าร้อยปี

คุณแก้ว กล่าวว่า เมล่อนที่ไม่ได้ขนาด(ตกไซซ์) เรานำมาผลิตไวน์ได้ 4 ขวด มูลค่า 320 บาท เราใช้แบรนด์ FURANO ฟูราโนะเป็นเมืองที่สามีไปดูงานและซื้อเมล่อนลูกแรกมาฝาก

“นอกจากไวน์เมล่อนแล้ว เรายังมีไวน์มะขาม ข้าว โดยใช้ข้าว กข.43 มะม่วงพันธุ์มหาชนก จาก อ.บางคล้า ไวน์มะพร้าวสายพันธุ์หมูสี จากคลองเขื่อน และเรามีโอกาสไปดูงานที่ญี่ปุ่นกับ ธ.ก.ส. เราจึงผลิตสปาร์คกิงไวน์ หากใครมาเที่ยวฉะเชิงเทรา มาไหว้หลวงพ่อโสธร อย่าลืมแวะมาที่ฟูราโนะ ฟาร์ม หรือบ้านสวนเมล่อนบ้านโพธิ์กันนะค่ะ”

“สุดท้ายต้องขอขอบคุณ ธ.ก.ส.ที่ให้การสนับสนุนทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ นอกจากนี้ยังต่อยอดด้านการตลาดให้ด้วยค่ะ” คุณแก้ว กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated