เรื่องโดย : จตุพล ยอดวงศ์พะเนา
ทีมงานเกษตรก้าวไกล ได้รับคำแนะนำจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เดินทางไปที่วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อพบกับประธานกลุ่ม น.ส.ณฐนนท เจริญรมย์ หรือ “คุณปุ๋ม” หญิงแกร่งผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาให้ชาวบ้านเนินสว่าง…
คุณปุ๋ม เล่าว่า ชุมชนบ้านเนินสว่างเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำสวนยางพารา แต่ประสบกับปัญหาราคาตกต่ำ ทางตนซึ่งเป็นผู้นำชุมชนรวมกับคนรุ่นใหม่ ร่วมกันคิดแก้ปัญหานำนวัตกรรมต่างๆ แปรรูปสินค้าจากน้ำยางพาราส่งขายออนไลน์
“เริ่มแรกทำตุ๊กตาขาย แต่ตุ๊กตาเป็นสินค้าตัวเล็กๆ ยางพาราคงไม่หมดไปจากชุมชน จึงคิดที่จะทำสินค้าชิ้นใหญ่ ๆ ขาย พวกเราชอบนั่งสมาธิ จึงนำยางมาทำเป็นที่นั่งสมาธิ หรือเป็นอาสนะสงฆ์ เริ่มแรกให้ชาวบ้านทดลองใช้ในชุมชน เมื่อประมาณปี 2560 ปรากฏว่าทุกคนใช้นั่งสบาย จึงนำมาปรับปรุงทำเป็นที่นั่งสมาธิหรืออาสนะสงฆ์ ปีแรกตั้งเป้าไว้ 7 แสนบาท ปรากฏว่าขายได้กว่า 2 ล้านบาท มีออเดอร์มาจากต่างประเทศตั้งแต่ปีแรกๆ จึงขอกู้เงินจากธ.ก.ส.มาตั้งโรงงาน ซึ่งทางธ.ก.ส.ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำล้านละร้อยมาให้ จึงทำให้มีการต่อยอดผลิตสินค้าขายต่อมาเรื่อย ๆ จนทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ดีมากขึ้น จึงต้องขอขอบคุณธ.ก.ส.เป็นอย่างยิ่ง”
คุณปุ๋มกับผลิตภัณฑ์ขายดี
คุณปุ๋มกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ก่อนจะพา ลุงพร เกษตรก้าวไกล เดินไปเยี่ยมชมโรงงานให้เห็น กรรมวิธีการผลิตต่างๆ เครื่องที่นำมาใช้ก็เป็นเครื่องมือง่ายๆ ดัดแปลงมาจากเครื่องทำขนม เมื่อนำน้ำยางพารามาใส่หม้อแปรรูปแล้ว ก็นำมาเข้าโรงนึ่งอบขึ้นรูป แล้วนำออกมาทำความสะอาด มาซักล้างอย่างเรียบร้อย ป้องกันสารเคมีกำจัดไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ก่อนที่จะนำไปตากให้แสงแดดฆ่าเชื้อประมาณ 10-15 วัน จากนั้นนำมาเก็บเข้าสต๊อกแล้วนำไปส่งให้ชาวบ้านเย็บ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้จากการเย็บอีกทางด้วย”
“เราดูแลชาวบ้านเหมือนเป็นญาติพี่น้อง ชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายยางพาราในราคาที่สูงกว่าตลาด เราจะส่งยางพาราที่ขึ้นรูปเป็นอาสนะและที่นอนพร้อมผ้าไปให้ชาวบ้านเย็บอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านก็จะมีรายได้จากการเย็บอีกทางหนึ่งด้วย” หญิงแกร่งแห่งชุมชนบ้านเนินสว่าง กล่าว และบอกถึงการพัฒนามาจนถึงวันนี้ ว่า…
ขั้นตอนการแปรรูปน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขั้นตอนการแปรรูปน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
“เราเริ่มจากการเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อยอดมาเป็นสหกรณ์ จากนั้นเราจึงจดทะเบียนเป็นบริษัทชื่อสไมล์รับเบอร์หรือยางยิ้ม เพื่อทำการส่งออกในแบรนด์พารารักษาและไก่กา เป็นที่นั่งนุ่ม ๆ และที่นอนนิ่ม ๆ ของดีมีคุณภาพจากบ้านเนินสว่าง ราคาไม่แพงเหมาะสมกับคุณภาพสินค้าที่เราสร้างสรรค์มาอย่างดี”
สุดท้ายคุณปุ๋ม กล่าวขอบคุณ ธ.ก.ส. ที่ให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณและองค์ความรู้ ที่ทำให้คุณปุ๋มนำน้ำยางพาราไปแปรรูปเป็นสินค้าดีมีคุณภาพราคาสูงๆ ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น..รายละเอียดเพิ่มเติมชมได้จากคลิปที่นำมาประกอบข่าวนี้