เรื่องโดย : จตุพล ยอดวงศ์พะเนา
อำพันฟาร์ม ฟาร์มโคนมที่บริหารจัดการโดยคนหนุ่มไฟแรง จากวิศวกรคอมพิวเตอร์ หันมาสานต่ออาชีพดั่งเดิมของพ่อแม่ ที่เขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก นั่นคืออาชีพเลี้ยงโคนม เขาต่อยอดนำน้ำนมดิบมาแปรรูปส่งขายทั่วโคราชและพื้นที่ใกล้เคียงในแบรนด์แอมมิลค์ ฟาร์มโคนมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
คุณนที โดดสูงเนิน หรือ “เท่ห์” เจ้าของอำพันฟาร์ม เล่าว่า เมื่อก่อนพ่อแม่ทำไร่ทำสวน ปลูกมันสำปะหลัง และข้าวโพด แต่ผลผลิตไม่ได้ตามเป้า ปีหนึ่งได้ผลผลิตแค่ครั้งเดียว พ่อจึงไปฝึกรีดนมจากลุงลอง เพื่อนบ้าน เห็นว่าการเลี้ยงโคนมได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า จึงหันมาเลี้ยงโคนมอย่างจริงจัง
เริ่มครั้งแรกคุณแม่ถูกหวยจึงนำเงินมาซื้อวัวนมตัวแรก คอกวัวเราก็ทำขึ้นมาอย่างง่ายๆ ภายในบ้านสูงประมาณแค่เมตรเดียว ที่หลับที่นอนก็อยู่ใกล้คอกวัว อยู่แบบนี้มานานมาก
“อาชีพเลี้ยงโคนมให้ผลตอบแทนที่สูง แต่เป็นอาชีพที่เหนื่อยมาก ทั้งวันต้องอยู่ที่ฟาร์ม ตื่นแต่เช้ามารีดนมและก็ให้อาหาร บ่ายๆก็ออกไปตัดหญ้า วันทั้งวันก็วนเวียนอยู่แบบนี้ ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วัวจะคลอดดึกดื่นก็ต้องตื่นมาดู คนที่ทำอาชีพนี้ต้องมีใจรัก ผมเห็นพ่อแม่ทำมานาน จนชินชาจึงไม่อยากจะเลี้ยงวัวเลย สมัยเด็กๆ ผมเป็นคนตั้งใจเรียนแม่ให้สอบสัตวแพทย์ก็สอบได้ แต่เมื่อสอบติดสัตวแพทย์แล้ว แม่กลับเปลี่ยนให้มาเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์ เพราะเห็นตนชอบคอมฯ จริงๆ แล้วผมไม่ใช่ชอบคอมพิวเตอร์แต่ชอบเล่นเกมต่างหาก เมื่อเรียนอยู่ปี 2 แม่ถามว่าจะเลี้ยงโคนมต่อหรือไม่ ผมเห็นว่าการเลี้ยงโคนมมีรายได้ที่ดีปีหนึ่งๆ ได้หลายแสนบาท จึงตัดสินใจเลี้ยงโคนมต่อ และจบออกมาจึงเข้ามาบริหารงานต่อ เริ่มเขียนแผนธุรกิจแบบใหม่และหา paper ข้อมูลใหม่ๆ จากต่างประเทศ สะสมองค์ความรู้ต่างๆ กลับมาเลี้ยงโคนมแบบสมัยใหม่ ทำแบบจริงจัง” คุณเท่ห์ กล่าว
คุณเท่ห์ พา ลุงพร เกษตรก้าวไกล เดินชมโรงเลี้ยงวัวขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างด้วยงบประมาณนับ 10 ล้านบาท ซึ่งจะทำแบบครบวงจร มีทั้งโรงเลี้ยงและโรงรีด รวมทั้งวัวนมรอคลอดอยู่ด้วยกัน มีพื้นที่กิน พื้นที่นอน พื้นที่เดิน ในที่เดียวกันรองรับประมาณ 200 ตัว ตรงนี้จะมีระบบการวัดความเร็วลม ระบบวัดแสง ปริมาณน้ำ และวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้า เลียนแบบจากต่างประเทศ
“พื้นที่แบบนี้ในประเทศไทยมีไม่ถึง 30% ถ้าโรงเลี้ยงเราดีระบบปฏิบัติการดี เราสามารถผลิตนมได้เท่ากับต่างประเทศ คือ แม่วัวตัวหนึ่งสามารถผลิตได้วันละ 25-30 ลิตร ปัจจุบันผลิตได้วันละ 20 ลิตรต่อตัวต่อวัน และทั้งหมดสามารถ monitor ได้ เรามีองค์ความรู้เครือข่ายจากยุวเกษตรกรโคนมแห่งประเทศไทย สามารถทำได้ใช้งบประมาณไม่เยอะ ต่างคนต่างมีความรู้แตกต่างกันไป แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันตลอดเวลา”
สำหรับ เทคนิคการจัดการของอำพันฟาร์ม มี 3 ข้อ คือ 1.การจัดการด้านอาหาร 2.การจัดการด้านของเสีย และ3.การจัดการฟาร์ม การจัดการอาหารเป็นเรื่องสำคัญเพราะค่าใช้จ่ายประมาณ 60% มาจากเรื่องของอาหาร ซึ่งอาหารจะเป็นส่วนที่ให้แม่โคสมบูรณ์พร้อมที่จะให้นมในปริมาณมาก ส่วนการจัดการด้านของเสียเมื่อเข้ามาในฟาร์มของตน จะเห็นปริมาณของเสียไม่สูง เราจะแยกเป็นของเหลวและของแข็ง ของเหลวจะนำไปทำเป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือนและให้ลูกน้องใช้ในฟาร์ม ส่วนของแข็งเราจะนำไปทำปุ๋ยส่งขายให้ชาวไร่ชาวสวนในพื้นที่ ปริมาณน้ำของเสียบางส่วนจะสูบไปรดแปลงหญ้า ก่อนที่จะตัดมาเลี้ยงโคนมเป็นการใช้หลัก BCG Model สุดท้ายการจัดการฟาร์มเราต้องมีฐานข้อมูลต่างๆ ของฟาร์ม เช่น การผสมเทียมของวัว ในวัว 1 ตัว เรามีการผสมเทียมเมื่อไร วัวได้กินอาหารเท่าไร ซึ่งเรามีปลอกคอเก็บพฤติกรรมของวัวแต่ละตัว
“อยากฝากเกษตรกรรุ่นใหม่ว่าการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่ดี แต่ปัจจุบันอาชีพโคนมอยู่ในโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งตลอดห่วงโซ่อาหาร เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนต่างๆ ก่อนเสมอ ถ้าอยากให้เกษตรกรกินดีอยู่ดีกว่านี้โครงสร้างต้องเปลี่ยน อยากให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้ามาสู่การเลี้ยงโคนมช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมให้มีอำนาจต่อรองมากกว่านี้ ให้สามารถทัดเทียมกับต่างประเทศภายใต้เงื่อนไขและองค์ความรู้ต่างๆ หลังจากผมไปเรียนรู้ที่ญี่ปุ่นภายใต้การสนับสนุนของธ.ก.ส. ทำให้รู้ว่าการเลี้ยงโคนมของประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” คุณเท่ห์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
คุณเท่ห์ ได้เชิญชวนทีมงานเกษตรก้าวไกลชิมผลิตภัณฑ์ที่ฟาร์ม คือ นมสดพาสเจอร์ไรส์ ทำจากน้ำนมดิบสดๆ และอีกผลิตภัณฑ์ คือโยเกิร์ตที่คัดสรรมาจากน้ำนมดิบแม่วัวพันธุ์ดีในฟาร์ม นอกจากนี้ยังมีสบู่นมสดและโลชั่นนมสด แบรนด์แอมมิลค์ สามารถสั่งซื้อจาก facebook ของอำพันฟาร์มได้
สุดท้ายคุณเท่ห์ ได้ขอบคุณธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ที่ให้การสนับสนุนและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “การจะทำฟาร์มให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อจะ up scale ให้ใหญ่ขึ้น ธ.ก.ส.นอกจากจะเป็นแหล่งเงินทุนแล้ว ยังเป็นแหล่งความรู้ให้กับเราอีกด้วย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จทั่วประเทศ” คือคำพูดปิดท้ายสุดเท่ก่อนจากกัน