นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงข้อมูลพยากรณ์ปริมาณการผลิตไม้ผลภาคเหนือ ลำไยและลิ้นจี่ ปี 2567 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และผู้แทนเกษตรกรดำเนินการจัดทำข้อมูลพยากรณ์ (ณ วันที่ 4 มีนาคม 2567) พบว่า
ลำไย ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ตาก แพร่ และน่าน) มีเนื้อที่ให้ผลในภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยมีจำนวน 1.243 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1.244 ล้านไร่ (ลดลงร้อยละ 0.10) เนื่องจากเกษตรกรโค่นลำไยเพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ทุเรียน ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และบางส่วนโค่นเพื่อสร้าง ที่อยู่อาศัย โดยจะให้มีปริมาณผลผลิต 1.047 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 0.949 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.24) แบ่งเป็นผลผลิตรวมในฤดู 0.702 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 0.627 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.04) และผลผลิตรวมนอกฤดู 0.344 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 0.323 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.73) ด้านผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลในภาพรวมอยู่ที่ 842 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 763 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.35) เนื่องจากราคาลำไยในปีที่แล้วอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นลำไย จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอเพื่อรับมือกับสภาพอากาศร้อนและราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอก ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยคุณภาพและเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำลำไยนอกฤดูมากขึ้น โดยผลผลิตลำไยในฤดูจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน และออกสู่ตลาดมากในเดือนสิงหาคม ประมาณร้อยละ 38.72 หรือ 4.05 แสนตัน
สำหรับ ลิ้นจี่ 4 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และน่าน) เนื้อที่ให้ผลมีจำนวน 7.30 หมื่นไร่ ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 7.52 หมื่นไร่ (ลดลงร้อยละ 2.86) เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน เงาะ ยางพารา โดยให้ผลผลิตรวม 2.72 หมื่นตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีปริมาณผลผลิต 3.32 หมื่นตัน (ลดลงร้อยละ 18.14) โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล อยู่ที่ 372 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 442 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงร้อยละ 15.84) เนื่องจากในปีนี้สภาพอากาศร้อนสลับหนาว และอากาศหนาวเย็นไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการออกดอกติดผล เพราะลิ้นจี่เป็นพืชที่อาศัยความหนาวเย็นในการชักนำการออกดอก และจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม ทำให้ลิ้นจี่บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการออกดอก ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรไม่ดูแลรักษา เนื่องจากลิ้นจี่เป็นพืชที่ดูแลยาก ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ช่อดอกไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ โดยในปีที่แล้วลิ้นจี่ออกสู่ตลาดกระจุกตัวอยู่ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งปีนี้ลิ้นจี่แทงช่อดอกช้าคาดว่าปี 2567 จะมีผลผลิตลิ้นจี่ออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม และจะออกสุดมากในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน รวมประมาณร้อยละ 93.03 หรือ 2.53 หมื่นตัน
ทั้งนี้ ข้อมูลนี้จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการไม้ผลในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ทั้งนี้ สศก. จะได้ติดตามสถานการณ์การผลิตอย่างต่อเนื่องต่อไปและจะรายงานผลพยากรณ์รอบต่อไปให้ทราบเป็นระยะ เนื่องจากผลไม้มีความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับกระทรวง กรม และจังหวัดได้นำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป