กรมส่งเสริมการเกษตรสั่งการเกษตรจังหวัดเร่งลงพื้นที่สำรวจ ให้คำแนะนำ และประสานความช่วยเหลือเบื้องต้น พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำคลองประเวศบุรีรมย์ และพายุฤดูร้อน

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ทำนบดินบริเวณจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ประตูน้ำท่าถั่ว ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ทรุดตัวเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 เมษายน 2567 ทำให้มีน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงไหลเข้าปะปนกับน้ำจืดในคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตรของจังหวัดฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ โดยกรมชลประทานได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเผชิญเหตุการณ์ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์เจ้าไชยานุชิต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2567 นั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และเกษตรจังหวัดสมุทรปราการเร่งสำรวจพื้นที่เพาะปลูกที่อาจจะได้รับผลกระทบ พร้อมให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มาตรา 83 (4)

กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน 2567) จากเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทราว่า มีพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทราได้รับผลกระทบ คือ อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และอำเภอบางปะกง ผลการดำเนินการในการสำรวจพื้นที่ด้านการเกษตร ด้านพืช  ดังนี้ อำเภอบ้านโพธิ์ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1 ราย พื้นที่ 3 ไร่ ชนิดพืชสวนผสม อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 11 ราย พื้นที่รวมประมาณ 2 ไร่ 3 งาน ชนิดพืชผัก และอำเภอบางปะกง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 6 ราย พื้นที่รวมประมาณ 2 ไร่ ชนิดพืชผัก และไม้ประดับ ในขณะที่เกษตรจังหวัดสมุทรปราการรายงานว่า ผลการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น ทางด้านพืชยังไม่ส่งผลการเสียหายต่อพืชโดยตรง เนื่องจากเกษตรกรปลูกไม้ผล ได้แก่ มะม่วง มะพร้าว และกล้วย ตามคันบ่อเลี้ยงปลา โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรอำเภอติดตามสำรวจพื้นที่เสียหายในทุกตำบลของอำเภอบางบ่ออย่างต่อเนื่องแล้ว

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจากเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ คือ อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย ผลการดำเนินการในการสำรวจพื้นที่ด้านการเกษตร ด้านพืช ดังนี้ อำเภอฝาง มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากเหตุวาตภัยและลูกเห็บ 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน พื้นที่ประมาณ 216 ไร่ ชนิดพืชข้าว ไม้ผลไม้ยืนต้น และพืชผัก เกษตรกรได้รับผลกระทบ 29 ราย และอำเภอแม่อาย มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ชนิดพืชไม้ผลไม้ยืนต้น และเกษตรกรได้รับผลกระทบ 10 ราย

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำชับให้เกษตรจังหวัดทุกจังหวัดเฝ้าระวังผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง พร้อมรายงานให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทันที เพื่อจะได้สั่งการ และประสานงานแก้ไขปัญหาทั้งในระดับส่วนกลาง และระดับพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรต่อไป

สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือ ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย พื้นที่เป็นพื้นที่เสียหายจริง อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ โดยจะช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในอัตรา ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่ละพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ และไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 4,048 บาทต่อไร่

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated