ทีมงานเกษตรก้าวไกล ได้พบกับ “กำนันแดง” ในงานเลี้ยงค่ำคืนหนึ่ง ทราบว่าปลูกทุเรียนอยู่ด้วย อายุจะย่างเข้า 4 ปี และได้ถามไถ่ต่อก็พบว่ากำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก
เช้าวันรุ่นขึ้นเราจึงออกเดินทางไปพบกำนันแดง หรือชื่อทางการ “นายสวัสดิ์ คำใส” กำนันคนดังแห่งตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
“เราอยากให้กำนันพาไปดูสวนทุเรียนที่ว่าตายหน่อยครับ”
“ผมว่าไม่ต้องไปดูหรอกครับ ทุเรียนมันตายก็เหมือนทั่วไปนั่นแหละ” กำนันแดง ตัดบท
การสนทนาของเราจึงเริ่มต้นขึ้นที่มุมหนึ่งของบ้านพัก และได้มีการ LIVE สด ผ่านเพจ เกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/279471041869718 ซึ่งกำนันแดงได้เล่าให้ฟังว่าตนเองได้ปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์จำนวนประมาณ 700 ไร่ หวังว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ช่วงบั้นปลายชีวิต แต่อยู่ๆน้ำที่เคยมีอุดมสมบูรณ์กลับแห้งเหือดในเวลาอันรวดเร็ว นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา…
“เกิดภาวะภัยแล้ง น้ำทั้งบนดินใต้ดินไม่มีเลย เราทำสวนมา 30 กว่าปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ก็เลยไม่ได้วางแผนเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้า พอมีปัญหาปั๊บเราก็พยายามแก้ไข ขั้นแรกก็คือขุดบ่อบาดาลเพิ่มเข้าไป(บ่อบาดาล 40 บ่อ) ระยะแรกก็ออกสัก 10 กว่าวัน หลังจากนั้นน้ำบาดาลก็หมดไปหายไป…”
“ทุเรียนของผมเลี้ยงเหมือนคุณหนู ดูแลเอาใจใส่อย่างดี กินอาหารทางดินทางใบ เท่าที่คิดว่าดีที่สุด พอสุดท้ายมันเริ่มดอยากขึ้นมา ภายในแค่ 5 วัน 10 วัน มันก็ตาย เหมือนคนที่ไม่เคยมีภูมิคุ้มกัน ไม่เคยเดินถอดรองเท้าเลย พอตกน้ำครำก็ติดเชื้อในกระแสโลหิตแล้ว”
“มันออกอาการที่ใบก่อน คือมันรักษาไม่ไหวแล้ว สุดท้ายก็เลยต้องยอมมัน”
ทุเรียนตายในหลายพื้นที่เพราะขาดน้ำ
โดยสรุปก็คือ “ปลูกทุเรียนทั้งหมดประมาณ 700 ไร่ คงเหลือเพียงประมาณ 100 ไร่เศษ ที่ยังคงมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่บ้าง”
ทีมงานของเราถามกำนันแดงว่าปลูกไร่ละกี่ต้น ก็ทราบว่าเฉลี่ยไร่ละประมาณ 40 ต้น เนื่องจากมีปลูกทุเรียนต้นคู่อยู่ด้วย เมื่อคำนวณดูแล้วทุเรียนต้องตายไปนับหมื่นๆต้น..
“ถ้าฝนมาหลังสงกรานต์พอจะกลับมาฟื้นได้บ้างไหม” ทีมงานพยายามเอาใจช่วย
“ส่วนใหญ่มันไอซียูแล้ว คงยากที่จะฟื้นกลับมาได้” กำนัน พูดแบบทำใจไว้แล้ว
“มันหดหู่ ทรมานใจ ถ้าไปดู..” ทีมงานของเราบ่นเสียงเบาๆ
หน่วยงานราชการลงพื้นที่ช่วยทุเรียนขาดน้ำ (ภาพในฤดูกาลที่ผ่านมาที่ ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง)
ปิดท้าย กำนันแดง บอกว่า “ผมขอฝากเป็นข้อคิด ต้องดูพื้นที่ให้เหมาะสม ว่าพื้นที่ที่เรามีอยู่จะปลูกอะไรดี ต้องคำนวณว่าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาตรงนี้เป็นอย่างไร 10 ปีข้างหน้ามันจะเกิดอะไรขึ้น…”
“ผมก็คงไม่โทษใคร แต่ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ ต้องมีแผนจัดการน้ำระยะสั้น กลาง ยาว รวมทั้งการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจจะต้องมีความชัดเจน เกษตรกรก็อย่าหลงกระแส ต้องทดลองปลูกน้อยๆไปก่อน อย่าปลูกทีเดียว 700 ไร่เหมือนผม” กำนันแดง กล่าวในที่สุด
(รายละเอียดทั้งหมด สามารถชมได้ที่คลิปLIVEสด หรือ คลิปจากยูทูปที่ตัดให้สั้นกระชับลงมาแล้ว)
อนึ่ง “กำนันแดง” นอกจากชีวิตจริงจะเป็นเกษตรกรเต็มขั้น และกำนันเต็มยศแล้ว ยังมีตำแหน่งทางสังคมเป็นประธานสภาเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี “เลือดนักสู้” เพราะชีวิตอดีตต้องหาเงินเรียนหนังสือด้วยอาชีพชกมวยจนมีชื่อเสียง และชีวิตช่วงหนึ่งต้องเพเนจรจากอำเภอบ้านลาด(บ้านเกิด)มาอยู่ที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง มาอยู่ไม่มีที่ดินแม้แต่ตารางวาเดียว มีแต่ปืนกระบอกเดียวกับมอเตอร์ไซด์ 1 คัน แต่ด้วยความมานะบากบั่นก็ทำให้สามารถก่อร่างสร้างตัวได้