นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้มีหนังสือที่ กร 003/1075 ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 ถึงอธิบดีกรมชลประทานให้ดำเนินการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เพื่อช่วยเหลือราษฎร 6 หมู่บ้าน ของตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรในฤดูแล้ง และประสบปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตรทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำยม เพื่อเป็นแหล่งสันทนาการของราษฎรในพื้นที่ตำบลสระ และพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมากรมชลประทาน ได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพพื้นที่ที่ประสบปัญหาร่วมกับราษฎรตำบลสระ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำจึงต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อพิจารณาพัฒนาโครงการตามขั้นตอนต่อไป เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จำนวน 278 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่อ่างเก็บน้ำ จำนวน 246 ไร่ พื้นที่หัวงาน จำนวน 30 ไร่ และถนนเข้าหัวงาน/แนวท่อส่งน้ำ จำนวน 2 ไร่ และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยม เขตป่าเพื่อเศรษฐกิจ จำนวน 3 ไร่ และเขตป่าเพื่อการเกษตร จำนวน 4 ไร่ ได้แก่ แนวถนน/แนวท่อส่งน้ำ
ประชุมร่วมกับประชาชนในพื้นที่ 20 พ.ค. 2567 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน
ซึ่งการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จำนวน 278 ไร่ กรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาในปี 2565 โดยขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย (1) ศึกษาความเหมาะสมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา โดยการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม ครอบคลุมประเภทโครงการทั้งหมด ที่ตั้งหัวงาน และอ่างเก็บน้ำ ความจุเก็บกักที่เหมาะสม และพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ออกแบบเบื้องต้น ประมาณราคาค่าก่อสร้าง แผนงานก่อสร้าง และวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์ (2) ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ให้ครอบคลุมทุกองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม และคุณค่าต่าง ๆ ที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ ด้านคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และด้านคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต (3) การดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนาโครงการได้รับรู้ข้อมูล และร่วมแสดงความคิดเห็นแนวทางในการกำหนดองค์ประกอบของโครงการตั้งแต่ต้น จะทำให้โครงการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน
นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 วันที่ 20 เมษายน 2566 ณ หอประชุม หมู่ที่ 8 บ้านราษฎร์พัฒนา ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และล่าสุดวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย หน่วยงานระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับท้องถิ่น สถานพยาบาล สถานศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โครงการได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อผลการศึกษาโครงการ พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น วัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินงาน และแผนการดำเนินงานโครงการ เพื่อนำผลสรุปมาพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการต่อไป
“การก่อสร้างโครงการฯ จะมีผลกระทบต่อประชาชนหรือครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ก่อสร้างองค์ประกอบโครงการ ได้แก่ พื้นที่หัวงาน/อ่างเก็บน้ำ พื้นที่แนวถนนและแนวท่อ เนื่องจากต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินบางส่วน และทรัพย์สินเพื่อการก่อสร้างโครงการ โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 47 ราย ทั้งนี้ กรมชลประทานจะมีการจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรม เพื่อให้ครัวเรือนดังกล่าวสามารถจัดหาที่ดินทำกินใหม่ได้” นายสุรชาติ กล่าว
แบบจำลองอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว
พื้นที่ก่อสร้างจะอยู่ด้านหลัง
โดยสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว มีที่ตั้งหัวงานอยู่ที่หมู่ที่ 8 บ้านราษฎร์พัฒนา ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา พื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 12.50 ตารางกิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,445 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งซ้าย 885 ไร่ ฝั่งขวา 560 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 1,331 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานฝั่งซ้าย 808 ไร่ พื้นที่ชลประทานฝั่งขวา 523 ไร่ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,174.82 มิลลิเมตร/ปี ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย 3.84 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ลักษณะอ่างเก็บน้ำ ระดับน้ำเก็บกักปกติ +293.00 เมตร (รทก.) ระดับน้ำสูงสุด +294.50 เมตร (รทก.) ระดับสันเขื่อน +296.00 เมตร (รทก.) ความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 2.10 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวอ่างเก็บน้ำที่ระดับน้ำสูงสุด 246 ไร่ ลักษณะเป็นเขื่อนดินระดับสันเขื่อน +296.00 เมตร (รทก.) ความยาวเขื่อน 310.00 เมตร ความสูงเขื่อน 22.00 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 8.00 เมตร ประกอบด้วย อาคารระบายน้ำล้น ฝั่งขวาของทำนบดินลักษณะอาคารระบายน้ำล้น Modified Side Channel Spillway ความยาวสันฝาย 40 เมตร ระดับสันฝาย +293.00 ม.รทก. รองรับปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 500 ปี ที่ระดับน้ำสูงสุด +294.50 ม.รทก., อาคารสลายพลังงานเป็นรูปแบบ Stilling Basin Type III, อาคารท่อส่งน้ำ (River Outlet) และท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม ชนิด Steel Liner ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร ธรณีท่ออยู่ที่ระดับ +274.50 ม.รทก. รองรับปริมาณน้ำท่าในช่วงฤดูแล้งในรอบการเกิด 10 ปี, อาคารรับน้ำด้านหน้า (Intake) เลือกรูปแบบอาคาร Drop Inlet บานควบคุมแบบ Gate Valve, อาคารสลายพลังงานรูปแบบปกติ Chute &Stilling Basin ,ระบบท่อส่งน้ำของโครงการด้วยท่อส่งน้ำขนาด Ø 0.60 เมตร, ระบบชลประทาน ประเภทระบบท่อส่งน้ำ ขนาดท่อ MP 5.30 กิโลเมตร, 1R-MP 2.30 กิโลเมตร, 1L-MP 1.60 กิโลเมตร ความยาวรวม 9.20 กิโลเมตร สามารถเก็บกักน้ำต้นทุนได้ 2.10 ล้านลูกบาศก์เมตร จะสามารถเก็บกักปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวเฉลี่ย 3.84 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำเฉลี่ย 3.65 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำสูญเสียเฉลี่ย 0.199 ล้านลูกบาศก์เมตร มีความต้องการใช้น้ำในอนาคตรวมทั้งสิ้น 2.731 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 71.21 ของปริมาณน้ำท่า โดยมีการขาดแคลนน้ำเฉลี่ย 0.23 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี หรือประมาณร้อยละ 8.50 ของปริมาณความต้องการน้ำ โดยมีปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่ลำน้ำห้วยแหนเฉลี่ย 1.148 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ลดลงจากสภาพปัจจุบัน 1.697 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยมูลค่าลงทุนโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ รวมทั้งสิ้น 331,580,000 บาท แยกเป็นงานก่อสร้างเขื่อน และอาคารประกอบ จำนวน 167,395,000 บาท และงานก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบ จำนวน 164,185,000 บาท คาดว่าในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 1.767 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค 0.105 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่ออุตสาหกรรม 0.488 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่อท่องเที่ยว 0.008 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่อปศุสัตว์ 0.083 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่อรักษาสมดุลนิเวศด้านท้ายน้ำ 0.280 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมปริมาณน้ำที่ส่งให้ทุกกิจกรรม 2.731 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี
ประชาชนในพื้นที่มาร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น..
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้ง และแก้ไขปัญหาอุทกภัยในฤดูฝนของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการดังกล่าว จะเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยมุ่งเน้นให้เก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร และส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งก่อให้เกิดผลดีและก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ถ่ายภาพร่วมกันที่บริเวณหัวงานที่จะก่อสร้าง (20 พ.ค.67)
ชมคลิป..ชาวบ้านบอกว่าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว จะนำมาซึ่งความอยู่ดีกินดีให้กับพวกเขา https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/2344999789038310
ชมคลิปLIVEสด..จากสถานที่จริงที่จะก่อสร้าง..ชาวบ้านดีใจมาก เฮกันลั่นให้ได้ยินไปทั่วประเทศhttps://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/2344602152549201