ตามติดเกษตรกรหัวขบวน ธ.ก.ส. ดูงานเกษตรเนเธอร์แลนด์

หมายเหตุ/เกษตรก้าวไกล/ดูงานเกษตรเนเธอร์แลนด์ – ในตอนที่ 1 เราได้รับฟังมุมมองของ คุณฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่ได้นำเกษตรกรหัวขบวนไปศึกษาดูงาน (คลิกอ่าน https://tinyurl.com/57rndyzj) ตอนที่ 2 นี้เราจะมารับฟังความคิดเห็นหรือมุมมองของเกษตรกรกันดูบ้าง

เริ่มที่ คุณสุรีรัตน์ สิงหรักษ์ หรือ “คุณอิ๋ม” ตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชนลองเลย  และในฐานะเจ้าของแบรนด์กาแฟลองเลย กล่าวว่า ก่อนไปเนเธอร์แลนด์ เคยได้ดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำผ่านการเสิร์จหาข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางการเข็นน้ำขึ้นภูเขา…

“เมื่อไปจริงๆ อิ๋มได้เห็นผลลัพธ์ จากการให้ความสำคัญของการศึกษา งานวิจัย ระบบการบริหารจัดการที่ดีในทุกมิติ ผ่านทุกสถานที่ที่ได้ไปเยี่ยมชม และผู้คนในแถบยุโรปอีกมากมายที่หลั่งไหลมาเยี่ยมชมเช่นเดียวกัน ทำให้ได้เห็นเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลก ทั้งด้านพฤกษศาสตร์ และเกษตรกรรม (อย่างแม่นยำ) ได้เห็นการค้าแบบชาวดัตช์ที่สื่อสารผ่านตลาดซื้อขายดอกไม้ flora holland และ Bloemenmark ได้เห็นการพัฒนาเมืองที่สื่อสารผ่าน Dam Square ได้เห็นการแก้ปัญหาของชาวดัตช์ ที่สื่อสารผ่านเลนจักรยาน กังหันลม โรงเรือนปลูกพืช”

นอกจากนี้ยังได้เห็นความสำเร็จในการระดมทุน ร่วมลงทุนใน World Horti Center (WHC) เป็นศูนย์นวัตกรรมชั้นนำพืชสวนเรือนกระจกระดับนานาชาติ ที่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นมากๆ ได้เห็นแล้วว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเกษตรที่สามารถส่งออกได้

“ขอบคุณพี่ๆ ทีมธนาคาร ธ.ก.ส. ที่ให้โอกาสอิ๋มจากวิสาหกิจชุมชนลองเลย ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ได้เห็นผลลัพธ์ของการใช้พลังงานทดแทน ใช้นวัตกรรมอย่างคุ้มค่าคุ้มทุน ได้เห็นผลลัพธ์ของการอยู่กับปัญหาและแก้ไขปัญหา จนเป็นจุดเด่นจุดแข็งและพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงของโลก ครั้งนี้เป็นการศึกษาดูงานที่สำคัญในชีวิต จะพาทีมเดินหน้าสู่การเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นเป็นภูเขาต้นไม้ต่อไปอย่างแม่นยำ จะเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยพลังงานทดแทน อย่าง Low Carbon Process Zero Waste ต่อไปไม่ย่อท้อ และจะสร้างคนท้องถิ่นให้ช่วยกันพัฒนาบ้านเกิด ถ่ายทอดความรู้สู่สมาชิกผู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ลองเลยต่อไป” คุณอิ๋ม กล่าวอย่างเชื่อมั่น

สลับมาฟังกลุ่มเกษตรกรหญิงหัวขบวนที่เป็นเจ้าของสวนดอกไม้ ซึ่งในการเดินทางมาดูงานครั้งนี้มีอยู่อย่างน้อยก็ 2 คน คือ คุณนภัสวรรณ เมณะสินธุ์ หรือ “คุณตาล” ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านตาติด อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ผลิตและจำหน่ายเบญจมาศตัดดอกรายใหญ่ในพื้นที่อีสานใต้ บอกว่ารู้สึกดีใจที่มีโอกาสได้ร่วมเดินทางมาดูงานด้านไม้ดอกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เห็นแนวคิดการพัฒนา นวัตกรรมเกษตร การบริหารจัดการ และการท่องเที่ยวชุมชน จะเอาวิชาความรู้ที่ได้กลับไปถ่ายทอดให้แก่สมาชิกทุกคน ในทุกโอกาสที่ได้ถ่ายทอด ไม่ใช่แค่คนในชุมชน และจะนำความรู้ที่ได้มาทั้งเรื่องนวัตกรรมต่าง และเรื่องไอเดีย มาปรับใช้ต่อยอดให้คุ้มค่ากับการที่ได้โอกาสไปศึกษาดูงานในครั้งนี้

“สุดท้ายนี้หวังว่าทาง ธ.ก.ส. จะให้การสนับสนุนกับเกษตรกรหัวขบวนรายอื่นๆ ต่อยอดโครงการดีๆ นี้อีกในครั้งต่อไป” คุณตาล กล่าวย้ำจากใจ

เกษตรกรหญิงเจ้าของสวนดอกไม้อีกคนหนึ่ง คือ คุณณวิสาร์ มูลทา หรือ “คุณปุ้ย” เจ้าของธุรกิจ I Love Flower Farm ชื่อดังในเชียงใหม่ ให้สัมภาณ์ระหว่างการดูงานที่ Keukenhof เทศกาลดอกทิวลิปแห่งปี กล่าวว่า…

“จากการที่ปุ้ยได้มาดูงานที่เนเธอร์แลนด์กับ ธ.ก.ส. และเพื่อนๆเกษตรกรในครั้งนี้ สิ่งที่ได้เห็นและนำไปพัฒนาในชุมชนได้ก็คือเรื่องของการท่องเที่ยวนั้นมันก็ไม่ยากเกินที่เราจะนำไปพัฒนาเป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว อย่างที่นี่ตัวตนเขาชัดเจนมาก ตัวตนในด้านของดอกไม้ ตัวตนในด้านของของฝากที่เป็นรองเท้าไม้ และอีกอย่างหนึ่งในเรื่องของธรรมชาติ และกังหันลม 3 อย่างในประเทศนี้ที่เรามองเห็นว่าเป็นจุดเด่น ที่แตกต่างไม่มีใครมาแทนได้ เราคิดว่าถ้าทุกคนในชุมชนแต่ละชุมชนมองเห็นว่า ธุรกิจของเราหรือแม้กระทั่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นตัวตนของเราแบบนี้ เราสามารถนำมาพัฒนาเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว คิดว่ามันเป็นจุดเด่นแน่ๆ ไม่ใช่แค่ธุรกิจของเรา แต่สามารถต่อยอด ในพื้นที่ใกล้เคียงให้เกิดอิมแพคกับชุมชน ดึงดูดคนเข้ามาในชุมชนได้อย่างแน่นอน ขอบคุณ ธ.ก.ส. มากๆ ที่มอบโอกาสให้ไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ตัวปุ้ยเองจะนำไปพัฒนาชุมชน ประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างคุ้มค่าที่สุด”

ทางด้าน คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ หรือ “น้องแสบ” เกษตรกรหัวขบวน ในฐานะเจ้าของไร่แสงสกุลรุ่ง จ.กาญจนบุรี ถึงแม้จะไม่ปลูกดอกไม้เป็นหลัก แต่ธุรกิจที่ทำก็คือ การเลี้ยงไข่ผำ..ที่กำลังสร้างงานจุดประกายให้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งการดูงานครั้งนี้ได้เห็นภาพธุรกิจชุมชนชัดเจนพอสมควร กล่าวว่า…

“สำหรับการศึกษาดูงาน ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประสบการณ์ที่ได้รับในส่วนของเกษตรกรหัวขบวน คือเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยที่ช่วยควบคุมกระบวนการผลิตภาคการเกษตรที่สามารถสร้างคำนวณผลผลิตที่แน่นอนและคำนวณรายได้อย่างชัดเจน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า ด้วยการนำมาแปรรูป ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย สามารถทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับชุมชนได้อีกด้วย”

“ส่วนการนำมาปรับใช้จะเป็นไอเดียการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ และจะสร้างจุดเด่นให้กับชุมชน กับการสื่อสารไปยังชุมชนหรือกลุ่เกษตรกรอื่นๆเมื่อมีโอกาส..ขอขอบคุณ ธ.ก.ส. ที่ให้โอกาสเกษตรกรหญิงตัวเล็กๆคนนี้” น้องแสบ กล่าวจากใจ

วกมาที่เกษตรกรคนหนุ่มกันบ้าง คุณนัฐวุฒิ เนตรประไพ หรือ “คุณต้อง” เกษตรกรหัวขบวนแห่งเอ็น.พี.พี. ออร์คิด ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยไม้ตัดดอก ภายใต้แบรนด์ เอ็น.พี.พี. ออร์คิด บนพื้นที่ 40 ไร่ ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และปัจจุบันยังเป็นประธานเกษตรแปลงใหญ่กล้วยไม้ จ.นนทบุรี มีพื้นที่ดำเนินการกว่า 600 ไร่ มีสมาชิกในเครือข่าย 38 ราย กล่าวว่า…

ประโยชน์ที่ได้รับ คือ ผมได้รับรู้มายเซ็ท วิธีคิด การปฏิบัติ ระบบตลาด มายเซ็ท ของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร  มีงานวิจัย พัฒนาการผลิตตลอดเวลา เพื่อทำให้ผลผลิตดีขึ้น ระบบตลาดใช้มาตรฐานความเชื่อใจ ที่สำคัญที่สุด คือมายเซ็ท วิธีการที่คิดว่าเรา จะทำให้ สินค้าเกษตรของเรามีคุณภาพ ราคาเหมาะสม จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้

“ที่ประทับใจ คือตลาดประมูลไม้ดอกอัลซเมียร์ ระบบที่นี่ดีมาก ไม่มีมือโดนดอกไม้สักดอก ดอกไม้ทุกดอกจะติดบาร์โค้ต รู้แหล่งที่มา รวมถึงระบบโลจิสติกดีมากด้วย ถ้าตลาดไม้ดอกบ้านเราต้องพัฒนาไปจุดนี้ได้ทุกอย่างจะเพอร์เฟค เพราะวิชาความรู้การปลูกทุกอย่างเกษตรกรบ้านเราค่อนข้างแน่นอยู่แล้ว”

ด้านเกษตรกรหนุ่มนักบริหาร คุณยงยุทธ เลารุจจิราลัย หรือ “คุณจิ้น” เกษตรกรหัวขบวนจาก เดอะ ฟิกเนเจอร์ การ์เด้น จ.ชลบุรี ผู้ผลิตและแปรรูปมะเดื่อฝรั่ง พร้อมเปิดเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการห้องประชุมสัมมนาให้เป็นส่วนหนึ่งของสวน กล่าวว่า..

“การไปดูงานเกษตรที่เนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ ทำให้ได้ความรู้เรื่องแนวความคิดในการบริหารการจัดการ การทำงานที่เป็นระบบที่สามารถจัดการรับและส่งสินค้าจำนวนมากอย่างมีประสิทธิภาพ มีการวางเป้าหมายอย่างชัดเจนร่วมกันของทุกหน่วยงานเกษตร ในเรื่องแนวทางการพัฒนาการเกษตรให้เกิดความสำเร็จของภาพรวมทั้งประเทศ การจัดการวางแผนการปลูกพืชอย่างมีประสิทธิภาพทั้งที่มีสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยและมีพื้นที่น้อยในการทำการเกษตร รวมถึงการจัดรูปแบบการจัดวางผลิตภัณฑ์และการทำแพคเกจ ในหลายๆแบบให้ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และความรู้ที่ได้มาแบ่งปันให้กับเกษตรกรเพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้กับภาคการเกษตรของเราได้”

ส่วน คุณทัพพ์ธนพนธ์ สภาพันธ์ หรือ “คุณเปิ้ล” เกษตรกรหัวขบวนแห่ง พี เจ ริช อินเตอร์ กรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายพืชผัก ผลไม้และกล้วยหอมทองส่งห้างโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ภาคใต้ตอนล่าง กล่าวถึงการมาดูงานครั้งนี้…คิดว่าการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะเอาชนะภัยธรรมชาติได้ จะเป็นประโยชน์ต่อวิธีคิดและการนำไปปรับใช้มากๆ เพราะกล้วยไม่มีฤดูกาล แต่ปัญหาของกล้วยตอนนี้ต้องเจอลมมรสุม วิธีการแก้ปัญหาตอนนี้ปลูกพืชกันลมทางธรรมชาติ ต่อไปจะพัฒนาปลูกในโรงเรือนขนาดใหญ่ได้หรือไม่ต้องมาพิจารณาอีกที

“เกษตรกรบ้านเขาจะมองภาครวมเป็นหลักไม่มองปัจเจกบุคคลเหมือนบ้านเรา เขาร่วมกันคิดร่วมกันทำร่วมกันแบ่งปันประโยชน์อันนี้น่าสนใจมาก บ้านเราถ้าใครให้ราคาสูงกว่าไม่อยู่แล้ว อยากให้มาแข่งเรื่องคุณภาพมากกว่าราคา ถ้าเราซื่อสัตย์จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนมั่นคง” คุณเปิ้ล กล่าว พร้อมขอบคุณธ.ก.ส. ที่เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนหมุนเวียน โดยที่ผ่านมาได้กู้เงิน ธ.ก.ส.จำนวน 2.5 ล้านบาท ในโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย (ล้านละร้อย) ทำให้ได้ขยายปริมาณการรับซื้อผลผลิตกล้วยหอมทองเพิ่ม โดยปัจจุบันรับซื้อเฉลี่ยวันละ 30 ตันเพื่อส่งเซเว่นฯและโมเดิร์นเทรดในสาขาภาคใต้เกือบทั้งหมด (ความคิดเห็นและมุมมองของคุณเปิ้ล จะมีภาคต่อ…โปรดติดตาม)

วกเลี้ยวมาที่เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้มีหัวใจเกษตรยิ่งใหญ่ไม่แพ้ผู้ชายอกสามศอก คุณณัฐพล ศรีวิลัย หรือ “น้องเต้” แห่งโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย กล่าวระหว่างที่กำลังมาชื่นชมกับความสวยงามของ หมูบ้านกีธูร์น หมู่บ้านท่องเที่ยวที่ไร้ถนน แต่ใช้เรือสัญจรทุกบ้าน…

“รู้สึกตื่นเต้นมาก ได้มาที่หมู่บ้านกีธูร์นที่นี่มีระบบการจัดการเหมือนที่ชุมชนของเราที่นั่งรถอีแต๊ก แต่ที่นี่เขานั่งเรือรอบหมู่บ้าน เขาจะหักค่ารายได้ไปบำรุงพื้นที่ส่วนกลางอย่างคลอง ที่เป็นเส้นทางสัญจร ของเราก็เหมือนกัน เราเก็บค่ารถอีแต๊ก 450 บาท ก็หักเข้าชุมชนเพื่อเอาไปบำรุงสถานที่ต่างๆ อีกอย่างหนึ่งที่น้องอยากจะนำไปปรับใช้ คือการแต่งบ้านต่างๆ ที่นี่เขามีมุมเล็กๆ มีสวนสวยน่ารักหน้าบ้าน แล้วถ้าชุมชนเราเอากลับไปใช้ อาจจะไม่สวยขนาดนี้ แต่เอาดอกไม้เล็กๆ เช่น ดอกบานชื่น ดอกบานไม่รู้โรย เอามาแต่งหน้าบ้านเป็นมุมเล็กๆ น้องคิดว่าก็จะเป็นจุดขายจุดหนึ่งให้กับชุมชนของเราได้ แล้วก็ที่สำคัญหมู่บ้านที่นี่เป็นปูนแต่หมู่บ้านที่ชุมชนของเราจะเป็นไม้ทั้งหมด จะแตกต่างกับตรงนี้ ของเราก็จะมีเอกลักษณ์ ของเขาจะมีของเขา แล้วเราต้องนำไปปรับใช้กัน..”

“ขอบคุณ ธ.ก.ส. ที่พาเด็กบ้านนอกอย่างน้อง มาดูงานที่แบบอลังการอันยิ่งใหญ่ถึงต่างประเทศ น้องสัญญาว่า จะนำเอาความรู้และสิ่งที่ได้รับกลับไปใช้ในหมู่บ้านในชุมชนเราแน่นอนค่ะ” น้องเต้ พูดจากใจ

มาที่เกษตรกรหัวใจชุมชนอีกคน คุณสุชา วันศุกร์ หรือ “ผู้ใหญ่ชา” ตัวแทนจากชุมชนบ้านไหนหนัง เป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน ตั้งอยู่ใน ต.เขาคราม อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ กล่าวว่า..

“จากการไปดูงานครั้งนี้ได้สร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการไปปรับใช้เพื่อการพัฒนาให้ตรงกับบริบทในพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีหมู่บ้านกีธูร์นที่ไร้ถนน แต่ใช้เรือเป็นพาหนะเป็นหมู่บ้านที่มีความสงบสะอาดและเป็นระเบียบ และมีการใช้เรือที่เป็นเครื่องยนต์พลังงานสะอาด”

“ในกรณีชุมชนบ้านไหนหนังการท่องเที่ยวทางทะเลชุมชนยังใช้เครื่องยนต์์โซล่าเซลล์ ซึ่งยังมีควันและเสียงดัง ในอนาคตทางชุมชนจะหาแนวทางมาปรับใช้เครื่องยนต์พลังงานโซล่าเซลล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้”

ปิดท้ายที่ คุณศุภชัย มิ่งขวัญ หรือ “คุณป้อม” แห่งไร่ภูตะวันออร์แกนิก ฟาร์ม กล่าวกับ “เกษตรก้าวไกล” ระหว่างที่กำลังเดินออกจากร้านขายเมล็ดพันธุ์พืชผักกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม ว่า..

“วันนี้ผมได้ไปช้อปปิ้งตลาดเมล็ดพันธุ์มา ก็ดีใจมาก ได้เมล็ดพันธุ์สลัดและเมล็ดพันธุ์พืชผักอื่นๆ ซึ่งผมเองก็ปลูกอยู่แล้วแต่จะไปคัดเลือกสายพันธุ์ จะไปทดลองปลูกที่บ้านเราลองดู ของเขาเป็นเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ รับรองมาตรฐานสากล..”

“ผมซื้อมาถุงนี้ 4,000 กว่าบาท (ยกถุงขึ้นโชว์) คิดว่าจะสามารถนำไปสร้างมูลค่าเป็นล้านบาท ให้กับไร่ภูตะวันออร์แกนิค ฟาร์ม ซึ่งเราก็ผลิตพืชผักออร์แกนิคอยู่แล้ว คือเราเลือกเอาเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ใช่ F1 ที่ไม่เป็นลูกผสม แต่ส่วนใหญ่แล้วที่นี่เป็นเมล็ดพันธุ์ OP (Open Pollinated Variety) คือ พันธุ์ผสมเปิดมีลักษณะพันธุกรรมที่เหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เราสามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ คือเราเอาไปปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่างเช่นเมล็ดพันธุ์พวกนี้เราต้องไปปลูกช่วงหน้าหนาว จึงจะได้ผลผลิตที่ดี ผมคิดว่าการศึกษาดูงานคุ้มค่า จะนำไปเพิ่มมูลค่า กับที่ฟาร์มของตนเอง และจะนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ ถ่ายทอดสู่ชุมชนด้วยครับ” คุณป้อม กล่าวในที่สุด

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นมุมมองส่วนหนึ่งของเกษตรกรหัวขบวน ธ.ก.ส. เป็นความหวังของภาคเกษตร..ถ้าเกษตรเจริญ ประเทศไทยของเราก็จะเจริญอย่างแน่นอน..ครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated