ปีนี้ ลำไย 8 จังหวัด ภาคเหนือ ผลผลิตรวม 9.78 แสนตัน เริ่มออกตลาดปลายเดือนมิถุนายน นี้

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์ผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกภาคเหนือ จัดทำข้อมูล ไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ครั้งที่ 2/2567 (ข้อมูล ณ 14 พฤษภาคม 2567) พบว่า ปี 2567 ลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีเนื้อที่ยืนต้น จำนวน 1,254,937 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 1,269,344 ไร่ (ลดลง 14,407 ไร่ หรือร้อยละ 1.13 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นลำไยที่มีอายุมากและให้ผลผลิตน้อย โดยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ยางพารา ทุเรียน มะม่วง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้านผลผลิตรวม มีจำนวน 978,974 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 949,473 ตัน (เพิ่มขึ้น 29,501 ตัน หรือร้อยละ 3) ทั้งนี้ ผลผลิตลำไยในฤดู จะออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนมิถุนายน และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2567 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2567 ประมาณ 366,273 ตัน หรือ ร้อยละ 37 ของผลผลิตทั้งหมด

สถานการณ์การผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2567 พบว่า ลำไยในฤดู มีจำนวน 637,501 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 606,900 ตัน (เพิ่มขึ้น 30,601 ตัน หรือ ร้อยละ 5) เนื่องจากราคาลำไยในปีที่แล้วอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นลำไยและราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอก แม้ว่าในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2567 สภาพอากาศจะร้อนจัด ส่งผลให้บางพื้นที่ต้นลำไยขาดน้ำและสลัดลูกทิ้งบางส่วน แต่เนื่องจากการออกดอกและติดผลมีมากกว่าปีที่แล้วทำให้ภาพรวมผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้น และลำไยนอกฤดู มีจำนวน 341,473 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 342,573 ตัน (ลดลง 1,100 ตัน หรือร้อยละ 0.32) ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งและร้อนจัด ทำให้ต้นลำไยในบางพื้นที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอกได้

ด้านสถานการณ์ราคาลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ลำไยนอกฤดู ออกสู่ตลาด (ลำไยนอกฤดูออกตลาด ม.ค. – พ.ค. และ ต.ค. – ธ.ค.) แบ่งตามเกรด ได้แก่ ลำไยสดช่อ เกรด AA กิโลกรัมละ 25 บาท ส่วนลำไยรูดร่วง เกรด AA กิโลกรัมละ 22 บาท , เกรด A กิโลกรัมละ 15 บาท , เกรด B กิโลกรัมละ 10 บาท และเกรด C กิโลกรัมละ 3 บาท ด้านลำไยในฤดู เกษตรกรเริ่มเกี่ยวเก็บตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ ในเกณฑ์ดี จากการที่เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลทำให้ลำไยมีคุณภาพดียิ่งขึ้น สำหรับสถานการณ์ตลาดลำไยภาคเหนือ ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตลาดจีนจะเปิดการซื้อขายแล้วแต่ยังมีมาตรการตรวจ คัดกรองที่เข้มงวด ทั้งการตรวจโรคแมลงศัตรูพืช ณ ด่านนำเข้าเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการลำไยในฤดูของภาคเหนือ ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันวางแนวทางการบริหารสมดุล Demand-Supply โดยมีการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการ สำหรับความต้องการผลผลิตส่วนใหญ่จะเน้นการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลำไยสกัดเข้มข้น และลำไยกระป๋อง จำนวน 480,725 ตัน บริโภคสดในประเทศ จำนวน 60,724 ตัน และส่งออกลำไยสด จำนวน 96,053 ตัน อย่างไรก็ตาม เดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัว อาจส่งผลกระทบต่อราคาลำไย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทั้งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาด ได้เตรียมแผนบริหารจัดการสินค้าและเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกจังหวัด เพื่อบริหารจัดการในช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เรียบร้อยแล้ว อาทิ การจำหน่ายลำไยเพื่อบริโภคสดในประเทศ โดยมุ่งเน้นกระจายออกนอกแหล่งผลิตผ่าน Modern Trade เครือข่ายสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ธ.ก.ส. ไปรษณีย์ และตลาดออนไลน์

“การผลิตลำไยในปีนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากระยะต่อจากนี้เป็นช่วงที่ลำไยเริ่มมีการพัฒนาช่อผล ซึ่งถ้าเกิดภัยแล้งขึ้นช่อผลที่กำลังพัฒนามีการหยุดชะงัก ผลเล็กไม่เจริญเติบโต หรือผลที่เติบโตเต็มที่แล้วจะมีอาการผลแตกในช่อผลได้ เกษตรกรชาวสวนลำไยควรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพ และให้เฝ้าระวัง เพลี้ยแป้ง ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญในลำไยเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด โอกาสนี้ ขอเชิญชวนผู้บริโภคทุกท่าน ร่วมสนับสนุนผลผลิตลำไยของเกษตรกร ซึ่งพร้อมออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และเป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรในการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพต่อไป หากท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์ลำไยภาคเหนือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ โทร 0 5312 1318หรืออีเมล zone1@oae.go.th

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated