แตงโม

ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยพะเยา พบราก่อโรคผลเน่าใหม่ในแตงโม รายงานครั้งแรกในประเทศไทยและของโลก สร้างองค์ความรู้สู่การวินิจฉัย การระบาดวิทยาโรคพืช การพยากรณ์โรค และการหาแนวทางควบคุมและป้องกัน ทีมนักวิจัย นำโดย ดร.นครินทร์ สุวรรณราช ดร.จตุรงค์ คำหล้า ดร.สุรพงค์ คุณา และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สายสมร ลำยอง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิพรพรรณ์ เนื่องเม็ก คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยในโครงการสำรวจราโรคพืชในพืชตระกูลแตง ซึ่งรวมถึงแตงโมที่ปลูกและการเก็บรักษาแตงโมหลังการเก็บเกี่ยว ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

นักวิจัยได้ทำการสำรวจเก็บตัวอย่างโรคที่เกิดจากรา จากนั้นแยกราสาเหตุโรค และทดสอบการก่อเกิดโรคด้วยสมมติฐานของค็อค (Koch’s postulates) ของราที่แยกได้ และระบุชนิดของราสาเหตุโรคด้วยหลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ ร่วมกับเทคนิคอณูชีววิทยาด้วยดีเอ็นเอ โดยวิเคราะห์ความสัมพันธุ์ของราชนิด Fusarium แบบหลายลำดับยีนส์ (Multigene analysis) ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อการระบาดวิทยาโรคพืช การพยากรณ์โรค โรครวมถึงการหาแนวทางควบคุมและป้องกันราก่อโรคอย่างถูกต้องแม่นยำ

การศึกษาวิจัยได้ใช้องค์ความรู้ กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ การสังเกต และการวิเคราะห์อย่างมีหลักการของศาสตร์อนุกรมวิธานในสาขาราวิทยา สาขาโรคพืชวิทยา และเทคนิคอณูชีววิทยาร่วมกัน โดยการแยกสปอร์ราแบบเดี่ยว (Single spore isolation) อาการของโรค การทดสอบการก่อเกิดโรคของราด้วยสมมติฐานของค็อค (Koch’s postulates) การบ่งบอกชนิดของราก่อโรคด้วยหลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ ด้วยศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของราและระบุชนิดด้วยเทคนิคอณูชีววิทยาแบบหลายลำดับยีนส์ (Multigene analysis) โดยไม่ใช้ตำแหน่งดีเอ็นเอบาร์โคด internal transcribed spacer (ITS) ในการระบุชนิดราก่อโรค แต่งานวิจัยนี้ได้ใช้ตำแหน่งยีน translation elongation factor 1-alpha ตำแหน่ง calmodulin (cam) และ RNA polymerase second largest subunit (rpb2) ในการระบุชนิดราก่อโรคด้วยแผนภูมิวิวัฒนาการ

ทีมวิจัยสามารถแยกราจากผลแตงโมที่เกิดโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด 10 ไอโซเลท โดยมีเพียง 4 ไอโซเลท ที่ก่อให้เกิดโรคผลเน่าในแตงโม จากการตรวจสอบด้วยสมมติฐานของค็อค ซึ่งแสดงอาการคล้ายคลึงกับอาการโรคที่พบครั้งแรก จากการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและข้อมูลดีเอ็นเอ รวมถึงการวิเคราะห์ด้วยแผนภูมิวิวัฒนาการพบว่าเป็นราก่อโรคในสกุล Fusarium บ่งบอกชนิดเป็น Fusarium compactum และ F. paranaense จากการศึกษา ทีมวิจัยพบว่าราทั้ง 2 ชนิด ที่พบเป็นราก่อโรคผลเน่าใหม่ของแตงโม ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ได้รายงานราก่อโรคผลเน่าใหม่ในแตงโมในประเทศไทย และเพื่อใช้อ้างอิงโรคผลเน่าแตงโมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ทราบชนิดของราสาเหตุโรคผลเน่าในแตงโมหลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องแม่นยำ ตามหลักวิทยาศาสตร์ และหลักอนุกรววิธานของราวิทยาที่ทันสมัย มีภาพลักษณะสัณฐานวิทยาของราก่อโรคประกอบ เพื่อใช้เปรียบเทียบชนิดราก่อโรคผลเน่าในแตงโมอย่างรวดเร็ว

ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การระบาดวิทยาโรคพืช การพยากรณ์โรค เพื่อวิเคราะห์การเกิดโรคในแตงโมได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ รวมถึงเป็นประโยชน์ด้านฐานข้อมูลของประเทศ อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาการเลือกยีนเพื่อระบุชนิดด้วยเทคนิคอณูชีววิทยาแบบหลายลำดับยีนด้วย tef1-alpha, cam และ rpb2 และสอดรับนโยบายเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายของจุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated