กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแสดงความยินดีกับ นายสุริยา ห่วงถวิล จังหวัดลพบุรี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำไร่ ประจำปี พ.ศ. 2567 และเกษตรกรทุกท่านที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2567
นายสุชาติ กลิ่นทองหลาง เกษตรจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า นายสุริยา ห่วงถวิล ผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 สาขาอาชีพพืชไร่ เป็นเกษตรกรที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การดัดแปลงเครื่องมือเก็บและวางสายน้ำหยดในแปลงปลูก ดัดแปลงอุปกรณ์ฉีดพ่นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูง ติดตั้งอุปกรณ์ต่อพ่วง โดยติดตั้งเครื่องหว่านเมล็ดคู่กับผานแปร ประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน เป็นต้น ส่งผลให้ได้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยต่อไร่สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยระดับประเทศ ร้อยละ 58.16 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และมีการบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดที่ดี คือ มีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน เชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าชนิดอื่น ๆ พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่การบริหารจัดการกลุ่มตามรูปแบบของ Smart Group โดยให้คำแนะนำในการจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มเพื่อบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการผลิต ด้านการตลาด ด้านเครื่องมือเครื่องจักกลทางการเกษตร ร่วมจัดทำแผนการผลิตและการจำหน่ายของกลุ่มและสมาชิกรายบุคคล IFPP เป็นประจำทุกปีก่อนการผลิต จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งมีการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพเพื่อวางแผนการขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มให้บรรลุแผนที่วางไว้ เชื่อมโยงการถ่ายทอดความรู้ในการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน และการตลาด ให้กับสมาชิกและแปลงใหญ่อื่น ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายในจังหวัดและพื้นที่ต่างจังหวัด โดยให้แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตำบลเขารวก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการสินค้าแปลงใหญ่ ของจังหวัดลพบุรี มีการบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มแปลงใหญ่เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับกลุ่ม เช่น การพัฒนาระบบการให้น้ำพืช เครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตร การใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ มาช่วยในการวางแผนการผลิตและการจำหน่าย รวมถึงระบบการจัดเก็บข้อมูลและเอกสารต่างๆ
นายสุริยา ห่วงถวิล
ด้าน นายสุริยา ห่วงถวิล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำไร่ ประจำปี พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ในปี 2554 ลาออกจากงานประจำมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน แต่ทำการเกษตรด้วยความเคยชินที่ทำกันมาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ จึงประสบปัญหาขาดทุนเรื่อยมา ในปี 2559 จึงเริ่มต้นศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตร เข้าร่วมอบรมดูงานจากหน่วยงานต่าง ๆ นำวิชาการความรู้มาประยุกต์ใช้ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ GAP เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง แต่การทำแบบแปลงเดี่ยวก็ยังทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดอำนาจต่อรอง ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาส่งเสริมให้เข้าสู่โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรแบบแปลงใหญ่ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ GAP และมันสำปะหลัง เพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนาผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดอยู่เสมอ พร้อมกับจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ข้าวโพดเขารวกพัฒนาก้าวไกล และต่อมาได้ขยายผลเป็นแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ม.2 ต.เขารวก อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ตั้งแต่ ปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน 51 ราย พื้นที่ 3,340 ไร่
ซึ่งผลจากการดำเนินงานในปี 2566 ที่ผ่านมา เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่สามารถลดต้นทุนได้จากเดิมเฉลี่ย 300-400 บาทต่อไร่ ได้ผลผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้ง จากเดิมเกษตรกรผลิตได้ 800 กก./ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 900 กก./ไร่ (ที่ความชื้น 30%) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 และมีปริมาณผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 2,700 ตัน/ปี โดยวิธีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้พืชปุ๋ยสด ให้น้ำที่มีประสิทธิภาพ และเลือกใช้พันธุ์ดี นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้พัฒนาผลผลิตของสมาชิกแปลงใหญ่ให้มีคุณภาพจนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบกลุ่ม จำนวน 46 ราย 48 แปลง
ในส่วนของการตลาด สินค้าหลักของกลุ่ม คือ ข้าวโพดเมล็ดแห้ง ราคาจำหน่ายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 12.30 บาท (ความชื้น 14.5%) คิดเป็นมูลค่า 33,210,000 บาท ข้าวโพดไซเลจ ผลผลิตเฉลี่ย 6,000 กิโลกรัม/ไร่ ปริมาณผลผลิต 1,800 ตัน/ปี ราคาจำหน่าย 1.20 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่า 2,160,000 บาท โดยทางกลุ่มได้มีระบบบริหารจัดการเพื่อให้มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่แน่นอนในราคาที่เป็นธรรม ด้วยการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งจากสมาชิกผ่านระบบการวางแผนการผลิต โดยใช้เครื่องมือ IFPP (หากสมาชิกไม่มาแจ้ง MOU กับกลุ่มก็จะไม่รับซื้อ) และแจ้งปริมาณคาดการผลผลิตให้กับผู้รับซื้อก่อนล่วงหน้า จากนั้นกลุ่มจะนำข้าวโพดที่รับซื้อจากสมาชิก มาปรับสภาพโดยการอบลดความชื้น ก่อนจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ ในเครือบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) และในเครือ C.P. Group เป็นต้น โดยการจัดทำ MOU กับผู้ประกอบการ ลานตาก ไซโลอบลดความชื้น ในพื้นที่ตำบลเขารวก ก่อนจำหน่ายที่ความชื้น 14.5 % – 18 % คือ การเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าวัตถุดิบไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม ส่งผลให้กลุ่มมีรายได้จากส่วนต่างจากการขายข้าวโพดเมล็ดแห้งหลังปรับปรุงคุณภาพแล้ว ประมาณ 0.80-1.20 บาท/กก. เมื่อสมาชิกส่งข้าวโพดเมล็ดแห้งให้กับลานปรับปรุงคุณภาพของกลุ่มแล้ว กลุ่มจะรายงานและโอนเงินให้เกษตรกรโดยจะหักค่าใช้จ่าย (ค่าปัจจัย/ค่าเก็บเกี่ยว/ค่าขนส่งฯลฯ) และเครือข่าย (รถเกี่ยว/รถขนส่ง/ลานปรับปรุงคุณภาพ ฯลฯ) ในวันอังคารและวันศุกร์ จะได้รับเงินผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคาร ธกส. ทางกลุ่มจะออกบิลแจ้งรายละเอียดในการเบิกจ่ายทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ
ในการดำเนินงานของกลุ่ม จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต เช่น การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การใช้รถเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนแรงงานคน เป็นต้น นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้มีการศึกษาและทำวิจัยแปลงทดสอบพันธุ์ข้าวโพดที่เหมาะสมในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร มีการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง เช่น การใช้โดรนเพื่อฉีดพ่นป้องกันกำจัดศัตรูพืชในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการนำแอปพลิเคชันมาประยุกต์ใช้ เช่น แอปพลิเคชัน Windy ใช้คาดการณ์ปริมาณฝน และ แอปพลิเคชัน Ling ใช้วัดความสูงต่ำของพื้นที่เพื่อปรับพื้นที่ให้มีความสม่ำเสมอต่อการผลิต อีกทั้งยังสร้างสินค้าที่เป็นนวัตกรรม เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าวัตถุดิบไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม ดำเนินกิจกรรมหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกและเครือข่ายไปปรับปรุงคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานที่ทางบริษัทผู้รับซื้อกำหนด โดยจำหน่ายเป็นข้าวโพดเมล็ดแห้งที่มีคุณภาพ (มาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม การปฏิบัติที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตและจำหน่ายให้กับบริษัทผู้รับซื้อที่ทำสัญญาไว้ต่อไป
“การรวมกลุ่มเป็นเกษตรแบบแปลงใหญ่ ช่วยให้เรารู้จักการวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยยึดหลักของ BCG โมเดล เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งในการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรให้สามารถแข่งขันทางการตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และมีโอกาสได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ใหม่ๆ จากภาครัฐมาปรับใช้ เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรไปสู่เกษตรสมัยใหม่ได้ตลอดเวลาอีกด้วย” นายสุริยา กล่าวทิ้งท้าย