กรมวิชาการเกษตร ลุยเต็มสูบ ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน เปิดกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร
มุ่งลดก๊าซเรือนกระจก

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เพื่อขับเคลื่อนสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน กรมวิชาการเกษตรได้จัดตั้ง กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร กรมวิชาการเกษตร ขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ภายในกรมวิชาการเกษตร มีภารกิจขับเคลื่อนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช ซึ่งจะดำเนินงานทั้งในส่วนของการศึกษาวิจัยแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาวิธีดำเนินการเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ในการจัดการ และเป็นผู้ตรวจประเมิน และรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร รวมทั้งศึกษาวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นพืชที่มีอนาคตต่อเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการส่งออก หรือเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นอาหารแห่งอนาคต เช่น หมาก มะพร้าวน้ำหอม กาแฟ อัตลักษณ์ กัญชา กัญชง กระท่อม ไม้เศรษฐกิจกักเก็บคาร์บอน ไข่ผำและพืชที่มีศักยภาพเป็นพืชโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น

ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการจัดตั้งกองกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ มีผลงานที่หลากหลายที่ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งการทำงานพืชเศรษฐกิจใหม่บางส่วนเป็นพืชเดิม บางส่วนเป็นพืชใหม่ เช่น พืชที่มีโปรตีนสูง/โปรตีนทางเลือก เช่น ไข่ผำ มีข้อจำกัดอยู่หลายส่วนโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งกองวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ฯ ได้ร่วมกับ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช หน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP ไข่ผำ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารไปก่อนในระหว่างรอมาตรฐานสินค้าสำหรับไข่ผำที่สำนักงานสินค้าเกษตรและมาตรฐานแห่งชาติ (มกอช.)

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากจัดตั้ง กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ ฯกรมวิชาการเกษตรยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตรวจรับรองประเมินโครงการ รับรองการคำนวณคาร์บอนเครดิตทางการเกษตรและป่าไม้ ดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด และประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร และ อบก. จะขยายผลจากการทำ MOU นำร่องใน 3 โครงการ คือ การผลักดันต้นแบบ การจัดทำคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร ให้สามารถซื้อ -ขาย ได้จริง ในพืชเศรษฐกิจ การวิจัยคาร์บอนฟุตพรินท์ในพืชเศรษฐกิจ หากกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานรับรองได้แล้วจะลดค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาสำหรับเกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการที่สนใจ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานตรวจรับรองจึงสามารถเป็นที่ปรึกษาในการจัดท่าเอกสาร และมี แพลตฟอร์ม ในการจัดท่าโครงการ T-VER ภาคเกษตร และมีความพร้อมในการให้บริการและรับรองคาร์บอนเครดิต

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรอยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดทำ Carbon credit baseline ในพืชเศรษฐกิจนำร่อง 7 ชนิด ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน มะม่วง และข้าวโพด เพื่อเป็นเส้นฐานคาร์บอนเครดิตของพืชเศรษฐกิจหลักระดับประเทศ สำหรับพัฒนาพืชเป้าหมายเข้าสู่โครงการ T-VER และขอรับรอง ISO 14065 จาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อเป็นหน่วยตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐาน T-VER ของ อบก. ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร มีผู้ผ่านการอบรม หลักสูตรผู้ตรวจสอบความใช้ได้ และผู้ทวนสอบสำหรับผู้ประเมินภายนอก สำหรับโครงการภาคสมัครใจ (VVB) จาก อบก. จำนวน 31 ราย

“นอกจากกรมวิชาการเกษตรจะลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมกับ อบก.แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อศึกษาวิจัยพืชเกษตร พืชเศรษฐกิจ และการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร และบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ด้วย ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated