บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประยุกต์ระบบฟาร์มปลอดโรค “คอมพาร์ทเมนต์ (Compartment)” ตามมาตรฐานสากลมาใช้ ป้องกันและเฝ้าระวังโรคในฟาร์มสัตว์ปีกอย่างเข้มแข็ง เพื่อยืนยันเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งมอบให้กับผู้บริโภคมีความปลอดภัยสูงสุด มั่นใจในผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟ ปลอดโรค ปลอดภัย ปลอดสาร สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรโลก
น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองผู้อำนวยการด้านมาตรฐานฟาร์มและข้อกำหนดลูกค้า ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ประยุกต์ใช้มาตรฐานคอมพาร์ทเมนต์ ตามแนวทางขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ WOAH) มาตั้งแต่ปี 2549 โดยดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อยกระดับการปกป้องและป้องกันสัตว์ปีกในฟาร์มให้มีสุขภาพดีและปลอดภัยจากโรคระบาดต่างๆ โดยเฉพาะไข้หวัดนก (Avian Influenza หรือ Bird Flu) ด้วยระบบมาตรฐานนี้ ทำให้สัตว์ปีกได้การคุ้มครองและดูแลให้มีสุขภาพดีโดยไม่มีโรคระบาดในฟาร์มมานานกว่า 15 ปี
“ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดในผลิตภัณฑ์อาหารที่จะส่งตรงถึงผู้บริโภค การเลี้ยงไก่ของบริษัทฯ ให้ความสำคัญสวัสดิภาพสัตว์ อีกทั้งระบบการป้องกันโรคที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบคอมพาร์ทเมนต์เป็นหนึ่งในมาตรการเชิงรุก ในการสร้างความมั่นใจสูงสุดให้กับผู้บริโภค” น.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าว
หลักการของระบบคอมพาร์ทเมนต์ มีมาตรการในการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโรคที่เข้มแข็งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญใน 4 มาตรการหลัก คือ 1. มาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity Management System) เน้นการประเมินความเสี่ยง ด้าน คน สัตว์พาหะ ยานพาหนะและสิ่งของ ที่จะเข้าสู่ฟาร์ม ควบคู่กับมาตรการเข้มงวดของบริษัทเพิ่มเติมจากมาตรฐานป้องกันโรคทั่วไป เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงของแต่ละฟาร์มในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีปัจจัยและความเสี่ยงในการที่ไข้หวัดนกจะเข้าสู่ฟาร์มที่แตกต่างกัน
2. การเฝ้าระวังไข้หวัดนกในฟาร์มและรัศมีโดยรอบ 1 กิโลเมตร (Surveillance) ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ ให้ทราบสถานะว่ามีโรคอยู่ในฝูงไก่หรือไม่ โดยอาศัยการตรวจจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งฟาร์มไก่เนื้อของ ซีพีเอฟ จะเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจโรคและตรวจสถานะไข้หวัดนกทุกรุ่นก่อนการปลดไก่ ก่อนส่งไปยังโรงงานแปรรูป
3. มาตรการควบคุมโรคของคอมพาร์ทเมนต์ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค และมีแผนฉุกเฉิน ซึ่งระบบคอมพาร์ทเมนต์ จะทำให้สามารถทราบสถานะของการเกิดปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยระบบการเตือนภัยล่วงหน้า
4. การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) จะทำให้ทราบสถานะของตัวไก่ ซึ่งหลักสำคัญ คือ การติดตามข้อมูล สอบสวน วิเคราะห์ปัญหาและวางแผนแนวทางในอนาคต ของกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่การผลิต น.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบคอมพาร์ทเมนต์ เป็นอีกหนึ่งหลักประกันอาหารปลอดภัยและความสำเร็จในการป้องกันโรคไข้หวัดนกที่ ซีพีเอฟ ยึดเป็นหลักปฏิบัติมาโดยตลอด ทำให้เนื้อไก่ แบรนด์ซีพี ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค และยังได้การรับรองมาตรฐานความปลอดภัยระดับอวกาศ (Space Food Safety Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัย ปลอดโรค ปลอดสาร ด้วยมาตรฐานสูงสุดเพื่อผู้บริโภค