สับปะรดปัตตาเวียภาคตะวันตก ปีนี้ ผลผลิตรวม 6.2 แสนตัน แนะเกษตรกรวางแผนการผลิตและควบคุมคุณภาพ

นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2567 ของภาคตะวันตก 4 จังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งจากข้อมูลการประชุมบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าสับปะรด ระดับเขต ครั้งที่ 1/2567 (ข้อมูล ณ 19 มิถุนายน 2567) คาดว่า มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 4 จังหวัดรวม 175,368 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 160,223 ไร่ (เพิ่มขึ้น 15,145 ไร่ หรือร้อยละ 9) ด้านผลผลิตรวม 4 จังหวัด 619,990 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 560,744 ตัน (เพิ่มขึ้น 59,246 ตัน หรือร้อยละ 11) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 3,535 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่จำนวน 3,500 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 35 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 1) ทั้งนี้ ผลผลิตสับปะรดปัตตาเวียออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาด 318,592 ตัน หรือร้อยละ 51 และช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2567 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดอีก 301,398 ตัน หรือร้อยละ 49 ซึ่งจะออกมากที่สุดในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2567

จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ของ สศท. 10 พบว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวของภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปี 2566 ประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ และมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ส่งผลให้ต้นสับปะรดไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถบังคับให้ออกผลได้เช่นปีปกติ สำหรับในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปรากฎการณ์เอลนิโญมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากนั้นจะมีสภาพเป็นกลางตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2567 และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ส่งผลให้ต้นสับปะรดจะสมบูรณ์และฟื้นตัวเร็วขึ้น สามารถบังคับให้ติดผลเพิ่มขึ้น สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนต้นสับปะรดปีแรกที่ไม่ได้ให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการบังคับผลผลิตเมื่อปลายปี 2566 และสามารถเก็บผลผลิตได้ในปี 2567 ประกอบกับราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงดูแลรักษาดีขึ้น ภาพรวมผลผลิตของภาคตะวันตกเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตต่อไร่ หากพิจารณาแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า ประจวบคีรีขันธ์ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 118,819 ไร่ (เพิ่มขึ้น 12,985 ไร่ หรือร้อยละ 12) ผลผลิตรวม 458,128 ตัน (เพิ่มขึ้น 53,524 ตัน หรือร้อยละ 13) ผลผลิตเฉลี่ย 3,856 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 33 กิโลกรัม หรือร้อยละ 1) ราชบุรี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 25,787 ไร่ (เพิ่มขึ้น 747 ไร่ หรือร้อยละ 3) ผลผลิตรวม 72,318 ตัน (เพิ่มขึ้น 2,891 ตัน หรือร้อยละ 4) ผลผลิตเฉลี่ย 2,804 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 31 กิโลกรัม หรือร้อยละ 1) เพชรบุรี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 20,636 ไร่ (เพิ่มขึ้น 2,005 ไร่ หรือร้อยละ 11) ผลผลิตรวม 60,138 ตัน (เพิ่มขึ้น 5,381 ตัน หรือร้อยละ 10) ผลผลิตเฉลี่ย 2,914 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลง 25 กิโลกรัม หรือร้อยละ 1) และกาญจนบุรี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 10,126 ไร่ (ลดลง 592 ไร่ หรือร้อยละ 6) ผลผลิตรวม 29,406 ตัน (ลดลง 2,568 ตัน หรือร้อยละ 8) ผลผลิตเฉลี่ย 2,904 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลง 79 กิโลกรัม หรือร้อยละ 3)

ด้านราคาสับปะรดปัตตาเวียที่เกษตรกรขายได้ ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา และยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูปและตลาดบริโภคผลสด ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 ราคาเฉลี่ยของสับปะรดปัตตาเวีย ที่เกษตรกรขายได้ ส่งเข้าโรงงาน ราคา 11.25 บาท/กิโลกรัม และส่งเข้าตลาดบริโภคผลสด เท่ากับ 16.01 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 33.48 และร้อยละ 23.65 โดยราคาเฉลี่ย ณ เดือนมิถุนายน 2567 ของสับปะรดปัตตาเวีย ส่งโรงงานอยู่ที่ 12.70 บาท/กิโลกรัม และส่งเข้าตลาดบริโภคผลสด เท่ากับ 15.92 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ร้อยละ 3.60 และร้อยละ 0.27 (ราคา ณ ไร่นา เฉลี่ย 3 สัปดาห์ วันที่ 17 มิถุนายน 2567) ผลผลิตสับปะรดปัตตาเวียส่วนใหญ่ ร้อยละ 92 เกษตรกรขายส่งเข้าโรงงานแปรรูปสับปะรด อีกร้อยละ 8 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าผู้รวบรวม ในพื้นที่เพื่อส่งขายตลาดบริโภคผลสด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลผลิตสับปะรดปัตตาเวียยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน ซึ่งราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรเร่งบังคับผลผลิต ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน เพื่อลดปัญหาผลผลิตส่วนเกินและราคาตกต่ำ แนะเกษตรกร ผู้ปลูกสับปะรดปัตตาเวีย ควรมีการวางแผนการบังคับผลผลิตสับปะรดเพื่อไม่ให้ผลผลิตเกิดการกระจุกตัว หรือปรับแผนการผลิตเป็นสับปะรดบริโภคผลสดแทนบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยง และสร้างเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาว โดยการร่วมมือกับโรงงานแปรรูปทำ Contract Farming ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านปริมาณผลผลิตและราคาสับปะรดปัตตาเวีย ให้มีเสถียรภาพและสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรผู้ปลูกสับปะรด ทั้งนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลสถานการณ์ การผลิตสับปะรดปัตตาเวียภาคตะวันตก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร 0 3233 7954 หรืออีเมล zone10@oae.go.th

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated