หน่อไม้ฝรั่งแดนอีสานจากภูผาม่าน ขอนแก่น สร้างฐานตลาดไปไกลถึงไต้หวัน ด้วยประสิทธิภาพการผลิตที่ได้มาตรฐาน การันตีคุณภาพจากสินค้าเกษตรแปลงใหญ่

หน่อไม้ฝรั่ง เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีอนาคต ด้วยเป็นที่นิยมของผู้บริโภค จึงเป็นต้องการของตลาด ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูกหน่อไม้ฝรั่งให้ได้ผลผลิตดีตลอดทั้งปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการหน่อไม้ฝรั่งคุณภาพจำนวนมาก

นางสาวปิยะมาศ แสนสุนนท์ ประธานแปลงใหญ่ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่งตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 8 ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ได้รวมกลุ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่งในพื้นที่ตำบลวังสวาบ โดยจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่งตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง บ้านฝายตาสวน มาตั้งแต่ปี 2558 แต่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ทั้งประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม หนักที่สุดช่วงโควิด กระทั่งในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทางกลุ่มจึงได้กลับมาฟื้นฟูการดำเนินงานใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มจากเปิดรับสมัครเกษตรกรที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งในพื้นที่เข้าร่วมและจัดตั้งกลุ่มในนาม “แปลงใหญ่ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกหน่อไม้ฝรั่งตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” และมีการระดมทุนจากค่าสมัครสมาชิกรายละ 100 บาท สำหรับเป็นค่าบริหารจัดการเบื้องต้น เริ่มจากสมาชิก 13 ราย พื้นที่ปลูก 13 ไร่ และปัจจุบันได้ขยายมาเป็น 30 ราย พื้นที่ปลูก 34 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 75 ตัน/ปี รายได้เฉลี่ย 4,500,000 บาท/ปี

สำหรับการจัดตั้งกลุ่ม กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอภูผาม่านและสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาให้คำแนะนำตั้งแต่วิธีการจัดตั้งกลุ่ม การวางแผนการดำเนินงาน รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกหน่อไม้ฝรั่งให้ได้ผลผลิตดีและมีคุณภาพ การแก้ไขปัญหาโรคพืช แมลง รวมถึงบูรณาการหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อสนับสนุนปัจจัยการผลิต และองค์ความรู้ในการผลิตปัจจัยการผลิตใช้เอง การพัฒนาการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสินค้า GAP  การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการน้ำในการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อการส่งออกของจังหวัดขอนแก่น

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ใน 2 รูปแบบคือ การปลูกแบบร่องเดี่ยวและการปลูกแบบร่องคู่ ซึ่งทั้ง 2 แบบจะมีข้อดีที่แตกต่างกัน โดยการปลูกแบบร่องเดี่ยวจะดูแลรักษาง่าย ทนทานต่อการเกิดโรคพืชได้ดีกว่าปลูกแบบร่องคู่ แต่การปลูกแบบร่องคู่จะมีข้อดีคือ ในรอบปีแรกของการผลิต จะสามารถให้ผลผลิตในปริมาณที่สูงกว่าการปลูกแบบร่องเดี่ยว นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำการใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตและช่วยลดต้นทุน เช่น การทำปุ๋ยหมัก การใช้ชีวภัณฑ์ การใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืช ส่งผลให้ในปัจจุบัน กลุ่มมีผลผลิตเฉลี่ย 3,479 กิโลกรัม/ไร่ มีต้นทุนการผลิต 13,114 บาท/ไร่/ปี (ไม่รวม ค่าพันธุ์ ค่าเช่าที่ดิน และระบบน้ำ)

“การดำเนินงานของกลุ่ม จะมีแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มที่ชัดเจน โดยมีการออกระเบียบข้อบังคับ เพื่อเป็นกติกาที่ปฏิบัติร่วมกัน มีความชัดเจนในการมอบหมายบทบาทหน้าที่ให้กับคณะกรรมการกลุ่ม กำหนดแผนในการประชุมให้มีความชัดเจน โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กลุ่ม” คุณปิยะมาศ กล่าว

คุณปิยะมาศ กล่าวอีกว่า ในการผลิตของกลุ่ม จะส่งเสริมให้สมาชิกดำเนินการไปในทางเดียวกัน เพื่อสร้างมาตรฐาน ให้เป็นสินค้าส่งออก ซึ่งขณะนี้ กลุ่มมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือไต้หวัน โดยมีบริษัท บรรณ์หน่อไม้ฝรั่ง เป็นผู้รับซื้อในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งจะมีการคัดเกรด และรับประกันราคาผลผลิต ดังนั้น เพื่อให้ผลผลิตของกลุ่มมีมาตรฐานเดียวกัน ตนในฐานะประธานกลุ่ม ก็จะออกเยี่ยมเยียนตรวจแปลงของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับทราบปัญหาของสมาชิกและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้การช่วยเหลือ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการผลิตของกลุ่มคือ มุ่งเน้นลดการใช้สารเคมี โดยจะส่งเสริมให้สมาชิกใช้ชีวภัณฑ์ต่างๆ แทน เช่น ไตรโคเดอร์มา และจะใช้สารเคมีเฉพาะในช่วงพักต้นตามความจำเป็นเท่านั้น (เก็บผลผลิต 3 เดือน พักต้น 1 เดือน) ระหว่างการพักต้นก็จะมีการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกในการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัย ที่สำคัญต้นทุนการผลิตลดลงอย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันทางกลุ่มสามารถผลิตหน่อไม้ฝรั่งได้เฉลี่ย 150 – 300 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเมื่อรวมผลผลิตจากกลุ่มอื่นในพื้นที่อำเภอภูผาม่านก็จะมีผลผลิตเพียง 900 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะตลาดมีความต้องการเฉลี่ย 5 ตันต่อวัน จึงมองเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของพืชชนิดนี้ว่าเป็นสินค้าเกษตรที่มีอนาคตอีกไกล เพียงแต่จะต้องผลิตให้มีคุณภาพ สำหรับด้านการตลาด ปัจจุบันจะมีอยู่ 2 ส่วนคือ ผลผลิตเกรด A และ B จะส่งออกประเทศไต้หวัน ส่วนเกรด C และเกรดทั่วไปจำหน่ายในประเทศ โดยทางกลุ่มจะทำสัญญาประกันราคารับซื้อขั้นต่ำกับทางบริษัทไว้ เกรด A เขียวตูม กิโลกรัมละ 60 บาท เกรด A บาน กิโลกรัมละ 30 บาท เกรด B ตูม กิโลกรัมละ 35 บาท เกรด B บาน กิโลกรัมละ 20 บาท เกรด C กิโลกรัมละ 15 บาท และเกรด Z (ตกเกรด) กิโลกรัมละ 5 บาท โดยทั้งนี้ หากราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน ทางบริษัทก็จะรับซื้อตามราคาตลาด ซึ่งในปีที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ เกรด A (ตูม+บาน) กิโลกรัมละ 80 บาท เกรด B (ตูม+บาน) กิโลกรัมละ 40 บาท เกรด C กิโลกรัมละ 25 บาท และเกรด Z (ตกเกรด) กิโลกรัมละ 10 บาท

“การรวมกลุ่มกันผลิตในรูปแบบของเกษตรแปลงใหญ่ ทำให้มาตรฐานของสินค้าไปในทิศทางเดียวกัน เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการผลิตให้ได้คุณภาพ ลดต้นทุน และสามารถต่อรองกับคู่ค้า ทำให้มีตลาดรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน ในราคาที่เป็นธรรม ปัจจุบัน สมาชิกของกลุ่มจะมีรายได้เฉลี่ย 25,000 – 30,000 บาท / คน / สัปดาห์ ซึ่งได้มากกว่าตอนที่ยังไม่รวมเป็นแปลงใหญ่เฉลี่ย 5,000 – 10,000 บาท เลยทีเดียว ส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และที่สำคัญคือครอบครัวได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น” คุณปิยะมาศ กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated