อธิบดีฯ วิศิษฐ์ หนุนการดำเนินงานสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะ พัฒนาไปสู่มาตรฐาน GAP พร้อมผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรม HALAL
สหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะ

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะปัตตานี จำกัด ณ ฟาร์มแกะ-แพะ ปรีกีฟาร์ม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้สหกรณ์ฯ ของนายมาหะมะ ตุงยง ประธานกรรมการสหกรณ์ พร้อมเยี่ยมชมฟาร์มแกะ-แพะ บ่อแหนแดง ปุ๋ยหมักจากมูลแพะ ผลิตภัณฑ์มูลแพะ โรงเลี้ยงแพะ คอกผสมพันธุ์ และโรงผสมอาหาร

อธิบดีฯ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมว่า ได้ให้คำแนะนำในการดำเนินงาน การลดต้นทุนด้านอาหารเลี้ยงแกะ-แพะ ทั้งอาหารหยาบและอาหารข้น ขอให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชื่อมโยงกับแครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการนำข้าวโพดมาเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงแพะคราวละมาก ๆ จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งและลดต้นทุนการเลี้ยงให้สมาชิกด้วย ในด้านองค์ความรู้อื่น ๆ นั้น มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และมหาวิทยาลัย เข้ามาให้ความรู้ให้มีการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน GAP ในส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์การตลาดให้กับสหกรณ์เพื่อใช้ในการผลิตอาหารเลี้ยงแพะ และพัฒนาด้านการตลาดเพื่อยกระดับราคาเนื้อแกะ-แพะต่อไป

“สหกรณ์แห่งนี้ เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรที่เลี้ยงแพะเลี้ยงแกะในจังหวัดปัตตานีทั้ง 12 อำเภอ ในการแนะนำส่งเสริมจะร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งปศุสัตว์จังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ให้ความรู้กับเกษตรกรให้มีการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะมาตรฐาน GAP ส่วนหนึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ได้แนะนำในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งอุปกรณ์การตลาดต่าง ๆ ที่สหกรณ์ต้องการเราจะมาสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงมา เพราะตอนนี้ราคาแพะแกะไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งหนึ่งที่จำเป็นก็คือ การให้เกษตรกรลดต้นทุน เครื่องไม้เครื่องมือที่จะสนับสนุนสหกรณ์ได้ คือ เครื่องผสมอาหาร TMR เครื่องสับหญ้า ส่วนองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงแกะ แพะนั้นมีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หน่วยงานในท้องถิ่นมาให้ความรู้กับเกษตรกร ถือเป็นอาชีพหนึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญ เพราะพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่บริโภคเนื้อแพะ เนื้อแกะ ราคาปัจจุบันอาจจะไม่จูงใจมากนัก เกษตรกรอาจจะต้องรอราคาสักระยะ คาดว่าในอนาคตข้างหน้าหากมีการเปิดตลาดต่างประเทศได้ ราคาแพะ แกะในประเทศก็อาจจะสูงขึ้น เพราะในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม เรื่องแพะ มีความต้องการ มากพอสมควร ตอนนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังพยายามเจรจากับทางเวียดนาม จีน ที่จะนำพวกสัตว์เคี้ยวเอื้อง วัว ควาย แพะ แกะ ออกไปจำหน่ายต่างประเทศให้ได้ ก็จะช่วยยกระดับราคาขึ้นมา ตอนนี้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ช่วยกันดูแลเรื่องราคา มีการอบรมเรื่องของการตัดแต่งซากให้ถูกต้องตามสุขลักษณะเพื่อให้ได้รับราคาที่ดีขึ้น” อธิบดีฯ วิศิษฐ์ กล่าว

สหกรณ์การเกษตรเครือข่ายแกะ-แพะปัตตานี จำกัด เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและแกะในจังหวัดปัตตานี เนื่องจากแพะและแกะถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีมุสลิมในพื้นที่ จึงได้จัดตั้งสหกรณ์เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ปัจจุบันมีสมาชิก 116 คน ด้วยสหกรณ์มีสมาชิกครอบคลุมทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานี จากการดำเนินงานพบว่าโรงเรือนเลี้ยงของสมาชิกมีจำนวนลดลง ซึ่งในขณะเดียวกันความต้องการบริโภคแพะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งสาเหตุที่สมาชิกมีการเลิกเลี้ยงแพะส่วนหนึ่งมาจากปัญหาต้นทุนการเลี้ยงที่สูง

คณะกรรมการดำเนินการจึงมีการขับเคลื่อนงานตามนโยบายเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของจังหวัดปัตตานี และเพื่อให้สหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายแพะ แกะ ตามมาตรฐาน GAP พร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรม HALAL บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดปัตตานีเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงและบูรณาการแผนงานโครงการต่าง ๆ จากหน่วยงานภาคีในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงร่วมขับเคลื่อน และส่งเสริมการดำเนินการของสหกรณ์ มีหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปัตตานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี มหาวิทยาลังสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้

จากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ทำให้สมาชิกมีโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน มีการลดต้นทุนให้กับสมาชิกผู้เลี้ยงแพะ โดยการส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่น โดยการใช้หัวอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารข้นที่มีการผสมสูตรให้มีค่าโปรตีนสูง นำไปผสมกับวัตถุดิบแหล่งอาหารที่สามารถหาได้เองในท้องถิ่น เช่น มันสำปะหลัง รำ โดยพื้นที่รอบบริเวณโรงเรือน สมาชิกสหกรณ์ได้มีการปลูกหญ้าเนเปีย หญ้าแพงโกล่า ต้นหม่อน กล้วย กระถิน เพื่อใช้สำหรับบดสับเป็นอาหารแกะ-แพะ เพื่อเป็นรายได้เสริมสมาชิกยังสามารถจำหน่ายมูลแพะสด กระสอบละ 50 บาท และยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จากการหมักปุ๋ยจากมูลแพะ กระสอบละ 200 บาท ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เสริม มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 – 10,000 บาท/ครัวเรือน/ปี

ปัจจุบันสหกรณ์มีแพะขุน 700 ตัว น้ำหนักโดยประมาณ 20-25 กิโลกรัม มีแพะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ 57 ตัว โดยมีโรงเรือนที่ได้มาตรฐานแล้ว 20 โรงเรือน และมีโรงเรือนที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ผ่านมาตรฐาน 20 โรงเรือน สหกรณ์ได้จัดหาสินค้าเป็นแพะ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และอาหารแพะ บริการให้กับสมาชิก และสหกรณ์ยังมีบริการเครื่องบดสับหญ้าให้บริการกับสมาชิก โดยคิดค่าบริการ 200 บาท/หญ้า 1 ตัน รวมทั้งได้มีการส่งเสริมสมาชิกทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยการปลูกทุเรียนและส้มโอบูโก ซึ่งเป็นผลไม้อัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี กล้วย มะพร้าว พืชผักสวนครัว โดยการนำปุ๋ยจากมูลแพะมาใช้เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ สหกรณ์ได้เข้ารับการอบรมโครงการชำแหละเนื้อแพะ การแปรรูปเนื้อแกะ-แพะ ตลอดจนส่งเสริมให้สมาชิกเป็นผู้ประกอบการการชำแหละชิ้นส่วนแพะจำหน่าย เพื่อเพิ่มปริมาณรายได้ให้กับสมาชิกอีกด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated